Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องเพลงยาวในฐานะบทวิพากษ์สังคมในสมัยรัตนโกสินทร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเนื้อหาและลักษณะเด่นของเพลงยาววิพากษ์สังคมในสมัยรัตนโกสินทร์ ผลการศึกษาพบว่าเนื้อหาของเพลงยาววิพากษ์สังคม ได้แก่ เนื้อหาวิพากษ์บุคคลใดบุคคลหนึ่ง กลุ่มบุคคลและปัญหาสังคม โดยเนื้อหาวิพากษ์บุคคลใดบุคคลหนึ่งและกลุ่มบุคคล มักจะเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เป็นที่รู้จักและมีบทบาทในสังคมไทย พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของบุคคลที่วิพากษ์ย่อมส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน และเนื้อหาวิพากษ์ปัญหาสังคมซึ่งพบว่ามี 7 ประเด็น ได้แก่ ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมไทย ปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ปัญหาเรื่องการเติบโตอย่างรวดเร็วของสังคมเมือง ปัญหาเรื่องระบบการศึกษาของไทย ปัญหาเรื่องการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล และปัญหาเรื่องนโยบายของประเทศเพื่อนบ้าน โดยเนื้อหาเหล่านี้ล้วนเป็นสารที่กวีสื่อให้เห็นถึงความไม่พอใจในพฤติกรรมบุคคลและสภาพปัญหาสังคมต่างๆ ลักษณะเด่นของเพลงยาววิพากษ์สังคมในสมัยรัตนโกสินทร์ ประกอบด้วยลักษณะเด่นด้านเนื้อหาและด้านการใช้ภาษา ลักษณะเด่นด้านการใช้ภาษาที่พบคือการใช้ภาษาในชื่อเรื่อง และการใช้ภาษาในเนื้อหา การใช้ภาษาในชื่อเรื่อง ได้แก่ การตั้งชื่อเรื่องที่ระบุเป้าหมายในการวิพากษ์ การตั้งชื่อเรื่องตามจุดมุ่งหมายสำคัญของเรื่อง และการตั้งชื่อเรื่องเลียนแบบเพลงยาวในอดีต ลักษณะเด่นด้านการใช้ภาษาในเนื้อหาที่พบมี 4 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นแรกคือเรื่อง การใช้คำ มีการใช้คำที่มีลักษณะเป็นถ้อยคำแฝงนัย การใช้คำเรียกเฉพาะและการใช้ถ้อยคำก้าวร้าว ประเด็นถัดมาคือ การใช้ความเปรียบ ปรากฏลักษณะการใช้ความเปรียบที่มุ่งขยายพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและการใช้ความเปรียบที่ให้ภาพของความทุกข์ ประเด็นที่สามคือ การใช้เครื่องหมายเพื่อการเสริมความช่วยให้ผู้อ่านเห็นถึงประเด็นสำคัญที่กวีต้องการนำเสนอ ปรากฏการใช้เครื่องหมาย ได้แก่ เครื่องหมายอัฒภาค (;) เครื่องหมายจุดไข่ปลา (...) เครื่องหมายปรัศนี (?) และเครื่องหมายอัญประกาศ (“ ”) ประเด็นท้ายสุด คือการใช้การอ้างถึง มีทั้งการอ้างถึงชื่อเรื่อง ตัวละคร สถานที่ เหตุการณ์ที่สอดคล้องหรือคล้ายกัน และการนำบางบทตอนหรือคำในบทตอนนั้นมาใช้อ้างถึง ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าเพลงยาววิพากษ์สังคมในสมัยรัตนโกสินทร์กวีมุ่งสื่อสารสำคัญและสร้างอารมณ์สะเทือนใจเช่นเดียวกับการแต่งเพลงยาวประเภทอื่นๆ จากการศึกษาเนื้อหาและลักษณะเด่นดังที่กล่าวมาแล้วล้วนสะท้อนให้เห็นทัศนะของกวีที่มีต่อสังคม และต้องการชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยในปัจจุบันล้วนเต็มไปด้วยปัญหาต่างๆ ที่ทุกคนควรตระหนักและร่วมกันแก้ไข แม้ว่าบางปัญหายากที่จะแก้ไขได้ก็ตาม