Abstract:
งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อวิเคราะห์ 1) ประเภทความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยหลักและหน่วยพึ่งพาในหน่วยสร้างนามวลีแสดงความเป็นเจ้าของในภาษาไทยที่มีตัวบ่งชี้ ของ 2) เครือข่ายทางความหมายของความสัมพันธ์ต่างๆ ที่พบ และ 3) เงื่อนไขการปรากฏของตัวบ่งชี้ ของ ในหน่วยสร้างนามวลีแสดงความเป็นเจ้าของในภาษาไทย โดยศึกษาด้วยทฤษฎีภาษาศาสตร์ปริชานและใช้ข้อมูลจากคลังข้อมูลภาษาไทยแห่งชาติฯ เป็นหลัก ผลการศึกษาพบว่าประเภทความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยหลักและหน่วยพึ่งพาในหน่วยสร้างนามวลีแสดงความเป็นเจ้าของในภาษาไทยที่มีตัวบ่งชี้ ของ สามารถแบ่งได้อย่างน้อย 7 แบบ ได้แก่ ก) กรรมสิทธิ์ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ข) ส่วน-ร่างกาย ค) ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ง) ส่วนย่อย-ส่วนใหญ่ จ) คุณลักษณะของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ฉ) เหตุการณ์-ผู้ร่วมเหตุการณ์ ช) หัวข้อของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เครือข่ายทางความหมายระหว่างหน่วยหลักและหน่วยพึ่งพามีลักษณะสำคัญ คือ ก) กรรมสิทธิ์ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นต้นแบบมากที่สุด ความสัมพันธ์ที่มีระยะใกล้กับกรรมสิทธิ์ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากกว่าความสัมพันธ์อื่นๆ ได้แก่ ข) ส่วน-ร่างกาย และ ค) ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และความสัมพันธ์ที่อยู่ชายขอบมากที่สุดคือ ช) หัวข้อของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ความแปลกแยกและไม่แปลกแยก และประเภทความสัมพันธ์ทางอรรถศาสตร์ที่พบ ไม่ได้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ส่งผลต่อการปรากฏของตัวบ่งชี้ ของ ในหน่วยสร้างนามวลีแสดงความเป็นเจ้าของในภาษาไทย แต่พบว่า คุณสมบัติของคำ (ชนิดของคำนามและความมีชีวิตของคำนาม) ความหนักของคำในหน่วยสร้าง และความเป็นสำนวน เป็นเงื่อนไขที่สำคัญกว่าต่อการปรากฏของตัวบ่งชี้ ของ ในหน่วยสร้างนามวลีแสดงความเป็นเจ้าของในภาษาไทย