Abstract:
งานชิ้นนี้ศึกษาวิเคราะห์ สถานภาพความเป็นพลเมืองของคาทอลิกในสังคมไทยอดีตและปัจจุบัน รวมถึงกระบวนการสร้าง ปัจจัยเอื้อ และอุปสรรคต่อความเป็นพลเมืองของคาทอลิก ผลการวิจัยพบว่าความเป็นพลเมืองของชาวคาทอลิกเกิดจากการปะทะกันของวาทกรรมความเป็นพลเมืองไทยของศาสนาพุทธที่เป็นกระแสหลักกับความเป็นพลเมืองไทยของศาสนาคริสต์ที่เป็นกระแสรอง โดยในช่วงรัชกาลที่ 4 ถึงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 การเป็นผู้นำความรู้สมัยใหม่ และความสัมพันธ์ที่ดีกับสถาบันกษัตริย์ของศาสนาคริสต์เป็นปัจจัยช่วยให้ศาสนาคริสต์สามารถดำรงอยู่ในสังคมไทยได้อย่างไม่เกิดความขัดแย้ง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ชาวคาทอลิกได้รับการยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นพลเมืองในสังคมไทย ต่อมาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 สถาบันกษัตริย์มีอำนาจลดลงรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำเนินนโยบายชาตินิยมบังคับให้ชาวไทยทุกคนนับถือศาสนาพุทธ ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าวได้เกิดความขัดแย้งระหว่างไทยกับฝรั่งเศสขึ้นในสงครามอินโดจีน ทำให้ศาสนาคริสต์ถูกมองว่าเป็นศาสนาของพวกฝรั่งเศสที่จะเข้ามายึดประเทศไทย ส่งผลให้เกิดการเบียดเบียนศาสนาคริสต์อย่างรุนแรง และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสร้างความเป็นพลเมืองของชาวคาทอลิก แต่ภายหลังในช่วงรัชกาลที่ 9 เกิดการสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ศาสนาคริสต์ได้ปรับตัวโดยการสร้างจินตกรรมความเป็นพลเมืองไทยของชาวคาทอลิกขึ้นมาอีกชุดหนึ่งเพื่อให้สอดคล้องกับจินตกรรมความเป็นพลเมืองของรัฐไทย ผ่านการตั้งโรงพยาบาลและโรงเรียนคาทอลิกการเข้ามามีบทบาทพัฒนาสังคมและช่วยเหลือคนด้อยโอกาส การปรับตัวผสมผสานศาสนาคริสต์ให้เข้ากับสังคมไทย และความสัมพันธ์ที่ดีของศาสนาคริสต์กับสถาบันกษัตริย์ไทย