Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ประกอบบทเรียนออนไลน์ โดยเปรียบเทียบประสิทธิผลการเรียนรู้และความพึงพอใจระหว่างผู้เรียนที่ใช้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์แบบสื่อนิ่ง (Non-interactive) และผู้เรียนที่ใช้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์แบบสื่อผสมปฏิสัมพันธ์ (Interactive) เป็นเอกสารประกอบการเรียนออนไลน์ นอกจากนั้นงานวิจัยยังศึกษาลักษณะการเรียนรู้ (Learning Style) และความรู้ในโลกดิจิทัล (Digital Literacy) ว่าส่งผลต่อการกระตุ้นทางปัญญา (Cognitive Engagement) ของผู้เรียนหรือไม่ ในการวิจัยกึ่งทดลองนี้ ได้มีการพัฒนาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เรื่องมูลค่าของเงินตามเวลา เพื่อประกอบการเรียนออนไลน์ในรายวิชาบริหารการเงิน หนังสืออิเล็กทรอนิกส์อยู่ใน 2 รูปแบบ คือ รูปแบบสื่อผสมปฏิสัมพันธ์และรูปแบบสื่อนิ่ง ข้อมูลเก็บจากนิสิตจำนวน 213 คน ที่มีสิทธิ์ในการเรียนหลักสูตร CBS Innovative Business Online ผู้เรียนประกอบด้วยนิสิตชั้นปีที่ 1 ที่เรียนวิชาพื้นฐานธุรกิจเป็นวิชาบังคับ จำนวน 82 คนและนิสิตจากคณะอื่น ๆ จำนวน 131 คน โดยหน่วยทดลอง 213 คนถูกแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มผู้ที่เรียนด้วยหนังสืออิเล็กทรอนิกส์แบบสื่อนิ่งจำนวน 109 คน และกลุ่มผู้ที่เรียนด้วยหนังสืออิเล็กทรอนิกส์แบบสื่อผสมปฏิสัมพันธ์จำนวน 104 คน ผลการวิจัยพบว่าผลการเรียนและความพึงพอใจของผู้เรียนออนไลน์ที่ใช้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์แบบสื่อผสมปฏิสัมพันธ์ไม่แตกต่างกับผู้เรียนที่ใช้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์แบบสื่อนิ่ง ลักษณะการเรียนของผู้เรียนไม่มีความสัมพันธ์กับการกระตุ้นทางปัญญา แต่การกระตุ้นทางปัญญาขึ้นอยู่กับระดับความรู้เกี่ยวกับโลกดิจิทัล มีการเก็บข้อมูลเพิ่มโดยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกและการใช้แบบสอบถามปลายเปิด ซึ่งพบว่าผู้ทั้งสองกลุ่มไม่เห็นความแตกต่างของสื่อปฏิสัมพันธ์ของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ผู้เรียนทุกคนมีความตั้งใจเรียนสูง กลุ่มนิสิตชั้นปีที่ 1 ตั้งใจเพราะต้องการได้เกรดที่ดี ส่วนนิสิตอื่นต้องการความคุ้มค่าของการลงทุนอย่างสมัครใจ นอกจากนั้นเมื่อนำคะแนนหลังเรียนมาเปรียบเทียบ พบว่าคะแนนของกลุ่มตัวอย่างที่ใช้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ประกอบการเรียนสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้มีการใช้งานหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ประกอบการเรียน