Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษานโยบายภาษีที่เหมาะสมภายใต้พลวัตของระบบเศรษฐกิจประเทศไทย โดยที่บทบาทสำคัญของภาครัฐบาลคือการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยให้ตามทันการเปลี่ยนแปลงและความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทั้งภาคเศรษฐกิจจริงและภาคการเงินของไทยจำต้องพึ่งพาการมีโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีเพื่อรองรับและส่งเสริมการพัฒนาของประเทศ การใช้จ่ายของภาครัฐในฐานะที่เป็นผู้ขับเคลื่อนหลักจำต้องมีการสนับสนุนอย่างเหมาะสมจากนโยบายภาษีที่ดี นำไปสู่ความจำเป็นที่จะต้องศึกษานโยบายภาษีที่เหมาะสมที่สุดเพื่อรองรับการใช้จ่ายของภาครัฐภายใต้บริบทและระบบเศรษฐกิจของไทย ในการศึกษานี้ใช้แบบจำลองดุลยภาพโดยทั่วไปแบบพลวัตภายใต้ความไม่แน่นอน เพื่อจำลองระบบเศรษฐกิจมหภาคของไทย และใช้กรอบแนวคิดเรื่องภาษีที่เหมาะสมตามแบบของแรมซี่ โดยเน้นศึกษาองค์ประกอบที่เหมาะสมของอัตราภาษีเฉลี่ย 3 ชนิดหลักอันได้แก่ ภาษีรายได้จากค่าจ้างแรงงาน ภาษีรายได้จากค่าเช่าทุน และภาษีจากการบริโภคของครัวเรือน ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์ต่อการบริโภคและการลงทุนจากภาครัฐ และการเปลี่ยนแปลงด้านอุปทาน ผลการศึกษาพบว่าเมื่อภาครัฐเพิ่มขนาดการลงทุนและเพิ่มการสะสมปัจจัยทุนของภาครัฐ ระบบเศรษฐกิจตอบสนองโดยการชะลอตัวลงเล็กน้อยจนกระทั้งเมื่อปัจจัยทุนของภาครัฐพร้อมที่จะถูกใช้งาน ภาคการผลิตจึงสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ในกระบวนการผลิตได้ ส่งผลให้การผลิตการบริโภคเติบโตขึ้น ในขณะที่ทรัพยากรที่ถูกภาครัฐใช้ไปในการลงทุน จะไปชะลอการลงทุนของภาคเอกชนในระยะสั้นเท่านั้น ในระยะกลางถึงยาวการลงทุนภาคเอกชนจะฟื้นตัวดี ฐานภาษีรายได้และฐานภาษีการบริโภคปรับตัวสูงขึ้น ภาครัฐสามารถพึ่งพาภาษีจากฐานรายได้เป็นหลักโดยกระทบต่อการตัดสินใจทำงานและออมของภาคครัวเรือนน้อยกว่า ในขณะเดียวกันภาครัฐสามารถลดภาระภาษีส่วนเกินต่อสังคมได้โดยการลดภาษีจากการบริโภค ผลการศึกษายังชี้ให้เห็นว่าระยะเวลาที่ภาครัฐสูญเสียไปในการสร้างหรือจัดสรรให้มีปัจจัยทุนของรัฐ ยิ่งนานจะยิ่งส่งผลลบต่อระบบเศรษฐกิจ ในขณะที่ผลิตภาพของปัจจัยทุนดังกล่าวมีความสำคัญทางบวกที่ชัดเจนต่อการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ