Abstract:
งานวิจัยเรื่องนี้มุ่งเน้นศึกษาและรวบรวมประวัติรวมถึงผลงานทางด้านดนตรีไทยของครูสมภพ ขำประเสริฐ โดยวิธีการรวบรวมข้อมูลเอกสารและการสัมภาษณ์บุคคลที่มีผู้เกี่ยวข้องในด้านต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์แนวทางการสืบทอดองค์ความรู้ด้านดนตรีไทยของท่านทั้งในอดีตปัจจุบันและอนาคตด้วยระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ผลการวิจัยพบว่าครูสมภพ ขำประเสริฐ ได้รับการถ่ายทอดวิชาดนตรีไทยจาก ครูพุ่ม โตสง่า ครูโองการ กลีบชื่น ครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) รวมถึงได้ศึกษาเพลงหน้าพาทย์เพิ่มเติมจากครูหลวงบำรุงจิตรเจริญ (ธูป สาตรวิไล) และครูพุ่ม บาปุยะวาทย์ องค์ความรู้ด้านดนตรีไทยของครูสมภพ ขำประเสริฐที่ปรากฏในงานวิจัยเรื่องนี้แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ ด้านการประพันธ์เพลง ด้านผลงานที่เป็นงานวิชาการ และด้านงานช่าง ในด้านการประพันธ์เพลงสามารถแบ่งตามบทบาทของเพลง ได้แก่เพลงเพื่อบรรเลงรับใช้สังคมและเพลงที่ใช้สำหรับการประลองวงจำนวนทั้งสิ้น 66 เพลง ประเภทแนวทางการบรรเลงที่ท่านถ่ายทอดให้แก่ลูกศิษย์ทุกคนตรงกันคือการแบ่งมือในการบรรเลงเครื่องตีอย่างเคร่งครัด ประเภทงานเอกสารทางวิชาการ 4 เรื่อง และกรรมวิธีการสร้างไม้ตีสำหรับเครื่องดนตรีในวงปี่พาทย์ ผู้สืบทอดองค์ความรู้จากครูสมภพแบ่งออกได้เป็นสายการสืบทอดดังนี้ สายลูกศิษย์ครูหลวงประดิษฐไพเราะรุ่นเล็ก สายทายาท สายวัดหัวลำโพง สายวัดรวกสุทธาราม สายสถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดนครปฐม ปัจจุบันบุคคลที่สืบทอดองค์ความรู้ของครูสมภพยังถ่ายทอดความรู้ให้แก่บุคคลและสถาบันต่าง ๆ ได้แก่ ครูสมพงษ์ ภู่สร ครูวิบูลย์ธรรม เพียรพงษ์ ครูเรือง มิ่งสมร ครูโกวิทย์ แก้วสุวรรณ ครูมิตต ทรัพย์ผุด ครูพิชิต กิสวาส