Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ความสัมพันธ์ของสติ การกำกับอารมณ์แบบปรับเปลี่ยนความคิด การกำกับอารมณ์แบบเก็บกดและสุขภาวะทางจิตของพนักงานในองค์กร กลุ่มตัวอย่างคือพนักงานในองค์กรที่มีอายุงานไม่ต่ำกว่า 4 เดือนหรือผ่านการทดลองงานแล้ว ทั้งเพศชายและเพศหญิง ช่วงอายุตั้งแต่ 22 - 55 ปี ในเขตพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลที่มีความสมัครใจเข้าร่วมการวิจัย จำนวน 148 คน มีอายุเฉลี่ย เท่ากับ 31.22 ปี (SD = 5.8) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ (1) แบบวัดสุขภาวะทางจิต (2) แบบวัดสติ (3) แบบวัดการกำกับอารมณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยค่าสถิติสหสัมพันธ์แบบเพียรสันและการวิเคราะห์การถดถอยแบบการถดถอยเชิงเส้นพหุ ผลการวิจัยพบว่า 1) สติมีสหสัมพันธ์ทางบวกกับสุขภาวะทางจิตของพนักงานในองค์กรอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับต่ำกว่า .001 (r = .554, p < 0.001) 2) การกำกับอารมณ์แบบปรับเปลี่ยนความคิด มีสหสัมพันธ์ทางบวกกับสุขภาวะทางจิตของพนักงานในองค์กรอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับต่ำกว่า .001 (r = .499, p < 0.001) 3) การกำกับอารมณ์แบบเก็บกดไม่มีสหสัมพันธ์กับสุขภาวะทางจิตของพนักงานในองค์กร (r = .025, p = 0.381) 4) สติ การกำกับอารมณ์แบบปรับเปลี่ยนความคิด และการกำกับอารมณ์แบบเก็บกดสามารถทำนายสุขภาวะทางจิตของพนักงานในองค์กรได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และอธิบายความแปรปรวนของสุขภาวะทางจิตได้ร้อยละ 40.5 (R² = .405, p < .001) โดยตัวแปรที่สามารถทำนายสุขภาวะทางจิตได้มากที่สุด คือ สติ (β = .45, p < .001) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับต่ำกว่า .001 รองลงมาได้แก่ การกำกับอารมณ์แบบปรับเปลี่ยนความคิด (β = .32, p < .001) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับต่ำกว่า .001 และการกำกับอารมณ์แบบเก็บกด (β = -.24, p < .01) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับต่ำกว่า .01