Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมาตรฐานความสัมพันธ์ด้านความผูกพันระหว่างกัน มาตรฐานความสัมพันธ์ด้านความรับผิดชอบต่อครอบครัว และความพึงพอใจในชีวิตคู่ของบุคคลที่มีความสัมพันธ์แบบคู่รักชาวไทยเพศชายและเพศหญิง จำนวนทั้ง 260 คน (เพศชาย 130 คน และเพศหญิง 130 คน) มีอายุเฉลี่ยเท่ากับ 26.06 (SD = 5.09) ปี เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ (1) มาตรวัดมาตรฐานความสัมพันธ์ และ (2) มาตรวัดความพึงพอใจในคู่ วิเคราะห์ข้อมูลโดยค่าสถิติสหสัมพันธ์แบบเพียร์สันและการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ ผลการวิจัยพบว่า 1) มาตรฐานความสัมพันธ์ด้านความผูกพันระหว่างกัน มีสหสัมพันธ์ทางบวกกับความพึงพอใจในชีวิตคู่ทั้งเพศชายและเพศหญิงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .01 (r = .51 และ r = .32 ตามลำดับ) 2) มาตรฐานความสัมพันธ์ด้านความรับผิดชอบต่อครอบครัว มีสหสัมพันธ์ทางบวกกับความพึงพอใจในชีวิตคู่ทั้งเพศชายและเพศหญิงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .01 (r = .32 และ r = .24 ตามลำดับ) 3) มาตรฐานความสัมพันธ์ด้านความผูกพันระหว่างกัน และมาตรฐานความสัมพันธ์ด้านความรับผิดชอบต่อครอบครัวสามารถร่วมกันทำนายความพึงพอใจในชีวิตคู่ทั้งเพศชายและเพศหญิงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และอธิบายความแปรปรวนของความพึงพอใจในชีวิตคู่ได้ร้อยละ 26 และ 10 (R2 = .26, p < .001 และ R2 = .10, p < .01 ตามลำดับ) โดยตัวแปรมาตรฐานความสัมพันธ์ด้านความผูกพันระหว่างกันเท่านั้นที่สามารถทำนายความพึงพอใจในชีวิตคู่ได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง (β = .46, p < .001 และ β = .32, p < .01 ตามลำดับ) โดยสามารถทำนายความพึงพอใจในชีวิตคู่ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 และ .01 ตามลำดับ