Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความเปราะบางของชุมชนชายฝั่งทะเลในจังหวัดสมุทรปราการจากภัยน้ำท่วมชายฝั่ง โดยพิจารณาองค์ประกอบ 3 ส่วนที่ส่งผลต่อความเปราะบางของพื้นที่ศึกษา ได้แก่ 1) การเปิดรับต่อภัยพิบัติของพื้นที่ซึ่งพิจารณาจากปัจจัยการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล แผ่นดินทรุด การกัดเซาะชายฝั่ง และการเกิดคลื่นชายฝั่งทะเลจากพายุ 2) ความอ่อนไหวของพื้นที่ต่อภัยซึ่งพิจารณาจาก ลักษณะการใช้ประโยชน์ทีดิน ความหนาแน่นของประชากร และอัตราส่วนประชากรวัยพึ่งพิง และ 3) ความสามารถในการรับมือของชุมชนชายฝั่งทะเลต่อภัยพิบัติซึ่งพิจารณาจาก ระดับการศึกษาของประชากร รายได้ และความสามารถในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข งานวิจัยนี้ใช้วิธีการกระบวนการลำดับชั้นเชิงวิเคราะห์ (Analytic Hierarchy Process: AHP) ในการประเมินค่าความสำคัญของแต่ละปัจจัยในการประเมินความเปราะบางของพื้นที่ศึกษา และใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในการวิเคราะห์ข้อมูลภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงวิเคราะห์ดัชนีความเปราะบางในสถานการณ์ พ.ศ. 2559 2569 และ 2589 ผลการศึกษาพบว่า ในกรณีที่ไม่เกิดคลื่นพายุซัดชายฝั่ง จะไม่มีพื้นที่เปราะบางจากน้ำท่วมชายฝั่งในพื้นที่ศึกษาใน พ.ศ. 2559 ในขณะที่สถานการณ์ของ พ.ศ. 2569 และ 2589 พบว่าตำบลที่มีความเปราะบางมากที่สุดคือ ตำบลปากน้ำ ตำบลคลองด่าน ตำบลบางปูใหม่ และหากในสภาวะที่เกิดคลื่นพายุ พบว่า ตำบลที่มีความเปราะบางมากที่สุดในพ.ศ. 2559 คือ ตำบลคลองด่าน ตำบลบางเพรียง และตำบลปากน้ำ ตามลำดับ ต่อมา พ.ศ. 2569 ตำบลที่มีความเปราะบางมากที่สุดคือ ตำบลคลองด่าน ตำบลปากน้ำ และตำบลบางปูใหม่ ตามลำดับ และใน พ.ศ. 2589 ตำบลที่มีความเปราะบางมากที่สุด คือ ตำบลปากน้ำ ตำบลคลองด่าน และตำบลบางปู ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่าตำบลปากน้ำมีความเปราะบางเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวมาก และมีความสามารถในกับรับมือต่อภัยพิบัติต่ำกว่าพื้นที่อื่นๆ