Abstract:
ปัจจุบันนักลงทุนให้ความสำคัญต่อความรับผิดชอบขององค์กรที่มีต่อสังคมเพราะเป็นสิ่งจำเป็นต่อความยั่งยืนขององค์กร แต่การรายงานความรับผิดชอบต่อสังคมยังไม่มีรูปแบบที่เป็นมาตรฐาน โดยเฉพาะตัวแทนข้อมูลที่อยู่ในรูปแบบจินตทัศน์ เช่น กราฟแท่ง หรือกราฟรูปภาพ อันได้รับความนิยมในหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้ใช้รายงานและผู้ลงทุนเกิดความเสี่ยง กล่าวคือกราฟอาจถูกบิดเบือนในการแสดงผลประกอบการขององค์กรที่ดีกว่าความเป็นจริง อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของผู้บริโภคข้อมูลแต่ละคนแตกต่างตามความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในอดีต วัตถุประสงค์ของวิทยานิพนธ์นี้ มุ่งเน้นผลลัพธ์ทั้งหมด 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ความผิดเพี้ยนของกราฟและความตั้งใจของนักลงทุน ส่วนที่สองศึกษาผลกระทบจากประเภทกราฟที่มีต่อการรับรู้ความผิดเพี้ยนของกราฟ และส่วนสุดท้ายศึกษาผลกระทบจากข้อมูลแนวโน้มที่มีต่อการรับรู้ความผิดเพี้ยนของกราฟ ผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่อ่านกราฟแท่งได้ถูกต้องมากจะรับรู้ความผิดเพี้ยนของกราฟแท่งได้มากเช่นกัน ในทางตรงข้าม แม้จะมีความสามารถในการอ่านกราฟรูปภาพมาก กลับรับรู้ความผิดเพี้ยนของกราฟรูปภาพน้อย นอกจากนี้ การรับรู้ความผิดเพี้ยนของกราฟยังขึ้นอยู่กับแนวโน้มข้อมูล ทั้งนี้ หากสามารถรับรู้ความผิดเพี้ยนของกราฟได้มากจะส่งผลให้ความตั้งใจของนักลงทุนต่อองค์กรมาก ทั้งด้านความตั้งใจซื้อสินค้าหรือบริการ ความตั้งใจเป็นพนักงาน และความตั้งใจลงทุน อย่างไรก็ตามความตั้งใจของผู้ลงทุนดังกล่าวกลับไม่ได้รับอิทธิพลจากทัศนติด้านความรับผิดชอบขององค์กรที่มีต่อสังคม