Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาถึงทฤษฎีการจับจังหวะตลาดกับโครงสร้างเงินทุน วิธีการศึกษาแบ่งออกเป็นศึกษาการจับจังหวะตลาดกับโครงสร้างเงินทุนตามแบบจำลองของ Baker and Wurgler (2002) ซึ่งกล่าวว่าการจับจังหวะตลาดในการจัดหาเงินทุนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเงินทุนของบริษัท ดังนั้นโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจึงถูกกำหนดโดยผลสะสมของการจับจังหวะตลาดในอดีต และวิธีที่ 2 ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างผลตอบแทนหุ้นกับการจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท โดยบริษัทที่ใช้ในการศึกษาเป็นหลักทรัพย์ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535-2540 โดยมีจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 142 บริษัท ผลการศึกษาตามแบบจำลองของ Baker and Wurgker สามารถสรุปได้ว่าการจับจังหวะตลาดในการจัดหาเงินทุนไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเงินทุนของบริษัท ซึ่งส่งผลให้ผลสะสมของการจับจังหวะตลาดในอดีตไม่สามารถที่จะกำหนดโครงสร้างเงินทุนของบริษัทได้ ถึงแม้ว่าจะตัดผลกระทบของปัจจัยอื่นที่ซึ่งอาจจะส่งผลให้ผลสะสมของการจับจังหวะตลาดในอดีตไม่สามารถอธิบายโครงสร้างเงินทุนของบริษัทออกไป แต่ผลสะสมของการจับจังหวะตลาดในอดีตก็ยังไม่สามารถอธิบายถึงโครงสร้างเงินทุนที่เปลี่ยนแปลงหลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ อย่างไรก็ตามพบว่าประเทศไทยมีการใช้จังหวะตลาดในช่วงสั้นๆ ในการจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุน เพราะการศึกษาในส่วนที่ 2 พบความสัมพันธ์ระหว่างผลตอบแทนหุ้นที่เพิ่มขึ้นกับการจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท ซึ่งทำให้การทดสอบของ Baker and Wurgler (2002) ที่ใช้มูลค่าตลาดของหุ้น ณ วันสิ้นปีเป็นตัวทดสอบไม่สามารถนำมาใช้กับการจับจังหวะตลาดในประเทศไทย