Abstract:
การวิจัยเรื่องการศึกษาความสอดคล้องระหว่างหลักสูตรคอมพิวเตอร์ในระดับอุดมศึกษากับตลาดวิชาชีพนั้น มีวัตถุประสงค์ที่จะตรวจสอบดูว่าบัณฑิตหรือผลผลิตของหลักสูตรคอมพิวเตอร์ต่างๆ นั้นทำงานได้ผลสอดคล้องกับความต้องการของหัวหน้างานหรือไม่เพียงใด ขอบเขตของการวิจัย คือ การศึกษาหลักสูตรทั้งหมด 5 หลักสูตรประกอบด้วย 1. หลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2. หลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง 3. หลักสูตรการประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ ของภาควิชาสถิติ คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4. หลักสูตรวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ 5. หลักสูตรคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ของวิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ หลักสูตรทั้ง 5 หลักสูตรนี้ เป็นหลักสูตรที่ได้รับอนุมัติจากทบวงมหาวิทยาลัยและมีผลผลิตหรือบัณฑิตออกไปอยู่ในตลาดวิชาชีพแล้ว วิธีการเก็บข้อมูล ใช้แบบสอบถาม 4 ชุด และแบบสอบถามเชิงสัมภาษณ์อีก 1 ชุด โดยศึกษาเปรียบเทียบกับหลักสูตรที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ผู้ตอบแบบสอบถามเป็นนิสิตนักศึกษา (ปีที่ 4) ซึ่งจะจบหลักสูตรภายในเวลาไม่เกิน 30 วัน นับจากวันตอบแบบสอบถาม 174 คน บัณฑิตที่กำลังทำงานอยู่แล้ว 190 คน หัวหน้างาน 93 คน ส่วนผู้ตอบแบบสอบถามเชิงสัมภาษณ์มีทั้งหมด 8 คน การวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถามทั้ง 4 ฉบับ และแบบสอบถามเชิงสัมภาษณ์อีก 1 ฉบับนั้นใช้วิธีคำนวณหาค่าสถิติพื้นฐาน คือ มัชฌิมเลขคณิต และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน กับหาค่าไคสแควร์ ซึ่งใช้ทดสอบความสอดคล้องระหว่างโครงสร้างหลักสูตรกับความต้องการของตลาดวิชาชีพ ส่วนการทดสอบค่าสหสัมพันธ์ของทุกหลักสูตรระหว่างกลุ่มผู้ผลิต นิสิตนักศึกษา และกลุ่มผู้ใช้ นั้นใช้สูตรการคำนวณของแมน-วิทนี ผลของการศึกษา 1. วิชาการด้านคอมพิวเตอร์เจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วมาก บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาแต่ละรุ่น มีประสบการณ์ในระหว่างการเรียนแตกต่างกันมาก 2. ตลาดวิชาชีพในปัจจุบันต้องการนักวิเคราะห์ระบบมากที่สุดและนักทำโปรแกรมเป็นอันดับรองลงมา อาชีพวิศวกรคอมพิวเตอร์ยังไม่เป็นที่สนใจของตลาดเท่าที่ควร 3. เมื่อเปรียบเทียบหลักสูตรทั้ง 5 หลักสูตรกับความต้องการของตลาดวิชาชีพแล้ว ปรากฏผลว่า 3.1 หลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังไม่สอดคล้องกับความต้องการในตลาดวิชาชีพ แต่ผลผลิตของหลักสูตรนี้ มีความสามารถในการวิเคราะห์ระบบด้วย เพราะการสอนมิได้เน้นตามชื่อของหลักสูตร นับได้ว่าบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาออกไป ประสบผลสำเร็จในการงานพอสมควร คือ เป็นได้ทั้งวิศวกรคอมพิวเตอร์ วิศวกรระบบและนักวิเคราะห์ระบบ 3.2 หลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ของคณะวิศวกรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ไม่สอดคล้องกับตลาดวิชาชีพเช่นเดียวกับหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่วัตถุประสงค์ของหลักสูตรนี้มุ่งผลิตให้บัณฑิตเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์เท่านั้น ทั้งอาจารย์และนิสิตจึงมีความประสงค์ตรงกัน ที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 3.3 หลักสูตรการประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ ของภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มีบัณฑิตทำงานอยู่ในหน่วยงานต่างๆ มากที่สุด วัตถุประสงค์ของหลักสูตรเขียนไว้กว้างมาก จนแม้แต่อาจารย์ก็ไม่สามารถกำหนดได้แน่นอนว่ามีจุดมุ่งหมายจะผลิตบัณฑิตในทางใด อย่างไรก็ตาม มีบัณฑิตสาขานี้จำนวนมากทำงานอยู่ตามธนาคารต่างๆ เพราะมีความสามารถในการทำโปรแกรมได้หลายภาษา ทั้งๆ ที่มิได้มีพื้นฐานทางด้านการเงิน การธนาคาร หรือแม้แต่ธุรกิจเท่าใดนัก 4. หลักสูตรวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ของภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาดวิชาชีพมาก การเรียนการสอนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ กล่าวคือมุ่งเน้นบัณฑิตให้เป็นนักวิเคราะห์ระบบและนักทำโปรแกรม 5. หลักสูตรคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ของวิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจเน้นการสอนทางด้านคอมพิวเตอร์และวิชาทางธุรกิจ นักศึกษาและบัณฑิตต้องการเป็นนักวิเคราะห์ระบบ และทำโปรแกรม จึงนับว่ามีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาดวิชาชีพมาก ความเห็นของอาจารย์ก็สอดคล้องกับความต้องการของตลาดวิชาชีพเช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องของการมุ่งผลิตนักวิเคราะห์ระบบ แต่ไม่เน้นในเรื่องการทำโปรแกรม วิชาพื้นฐานทางธุรกิจ มีมากพอที่จะทำให้บัณฑิตที่จบหลักสูตรนี้เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น