Abstract:
การศึกษาวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาและเปรียบเทียบชนิดและลักษณะของคำวิเศษณ์และคำนามที่พบในโครงสร้าง “คำวิเศษณ์+คำนาม” และ “คำนาม+คำวิเศษณ์” ในภาษาจีนกลางกับโครงสร้างลักษณะเดียวกันในภาษาไทย รวมทั้งเปรียบเทียบความหมายและบริบทการใช้ในโครงสร้างที่มีคำวิเศษณ์ขยายคำนามดังกล่าวในภาษาทั้งสอง ผลการวิจัยพบว่า ชนิดและลักษณะของคำวิเศษณ์ในโครงสร้างที่มีคำวิเศษณ์ขยายคำนามในภาษาจีนกลางและในภาษาไทย มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ประกอบด้วย คำวิเศษณ์บอกระดับ คำวิเศษณ์บอกขอบเขต คำวิเศษณ์บอกเวลา คำวิเศษณ์บอกความปฏิเสธ ส่วนชนิดและลักษณะของคำนามในโครงสร้างที่มีคำวิเศษณ์ขยายคำนามในภาษาจีนกลางและในภาษาไทย ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกันเช่นเดียวกัน ประกอบด้วย คำนามที่เป็นนามธรรม คำนามที่เป็นรูปธรรม คำนามบอกเวลา คำนามบอกสถานที่ เมื่อเปรียบเทียบความหมายโดยนัยของคำนามทั่วไปที่ใช้ในโครงสร้างที่มีคำวิเศษณ์ขยายคำนามในภาษาจีนกลางและภาษาไทย จะแบ่งเป็น 3 กรณี ได้แก่ 1) ใช้คำที่เหมือนกัน และมีความหมายโดยนัยเหมือนกันหรือเทียบเคียงกันได้ 2) ใช้คำที่เหมือนกัน แต่มีความหมายโดยนัยแตกต่างกัน และ 3) ใช้คำที่ต่างกัน แต่มีความหมายโดยนัยเหมือนกันหรือเทียบเคียงกันได้ ส่วนความหมายโดยนัยของคำนามเฉพาะที่ใช้ในโครงสร้างลักษณะเดียวกันนั้น จะแบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่ 1) เป็นคำนามเฉพาะที่รู้จักกันภายในแต่ละสังคมหรือวัฒนธรรม และ 2) เป็นคำนามเฉพาะที่มีลักษณะข้ามวัฒนธรรมหรือเป็นที่รู้จักกันในระดับสากล นอกจากนี้ ยังพบว่าโครงสร้างที่มีคำวิเศษณ์ขยายคำนามในภาษาทั้งสอง มีบริบทการใช้ซึ่งสะท้อนทัศนคติที่น่าสนใจในหลายลักษณะ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับเพศสภาพ อายุ เชื้อชาติ อาชีพการงาน