Abstract:
วัตถุประสงค์ เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการตรวจสุขภาพเหงือกด้วยตนเองของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ภายหลังจากดูสื่อเรื่องโรคเหงือกอักเสบกับนักเรียนกลุ่มที่ไม่ได้ดูสื่อ วัสดุและวิธีการ การวิจัยกึ่งทดลอง (quasi-experimental research) ทำในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ของโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในอำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร นักเรียนจำนวน 87 คน อายุเฉลี่ย 12.01 ± 0.87 ปี ใช้วิธีการสุ่มอย่างง่ายแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มควบคุม 45 คน และกลุ่มทดลอง 42 คน นักเรียนตรวจสภาวะหินปูนและสุขภาพเหงือกของฟันหน้า 12 ซี่ ด้วยตนเองโดยใช้กระจกมือถือ (13 คะแนน) นักเรียนในกลุ่มทดลองจะได้ดูสื่อเรื่องโรคเหงือกอักเสบ เปรียบเทียบคะแนนระหว่างกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง โดยใช้สถิติอินดีเพนเด็นท์ แซมเปิลส์ ที เทสต์ ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ผลการศึกษา ก่อนการทดลอง กลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยคะแนนความสามารถในการตรวจสุขภาพเหงือก 4.80 ± 2.67 และ 4.9 ± 2.28 คะแนน ตามลำดับ ภายหลังการทดลอง กลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยคะแนนความสามารถในการตรวจสุขภาพเหงือก 4.44 ± 2.85 และ 7.00 ± 2.58 คะแนน ตามลำดับ เปรียบเทียบระหว่าง 2 กลุ่ม พบว่าภายหลังการดูสื่อโสตทัศน์เรื่องเหงือกอักเสบ นักเรียนในกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยคะแนนความสามารถในการตรวจสุขภาพเหงือกมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001) สรุป สื่อเรื่องโรคเหงือกอักเสบทำให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในการศึกษาครั้งนี้สามารถตรวจสุขภาพเหงือกของตนเองได้ดีขึ้น