Abstract:
ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ที่มีการกลายพันธุ์ของยีน K-ras (V-Ki-ras2 Kirsten rat sarcoma viral oncogene homolog) จะไม่ตอบสนองต่อการให้ยาเคมีบำบัดชนิดโมโนโคลนอล แอนติบอดี ที่จะไปยับยั้งการส่งสัญญาณบนผิวเซลล์ของ epidermal growth factor receptor (EGFR) จึงมีความจำเป็นในการตรวจวิเคราะห์การกลายพันธุ์ของยีน K-ras ก่อนการให้ยากับผู้ป่วยเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ในการศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาวิธี Multiplex Allele-Specific PCR (MAS-PCR) ในการตรวจหาการกลายพันธุ์ของยีน K-ras ที่ตำแหน่งโคดอน 12 และ 13 นิวคลีโอไทด์ที่ 34 35 และ 38 ทั้งสิ้น 7 ชนิด คือชนิด G12D, G12A, G12R, G12C, G12S, G12V, และ G13D ในหลอดทดลองเดียว ตัวอย่างชิ้นเนื้อที่ฝังพาราฟินของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง จำนวน 270 ตัวอย่าง ทำการตรวจวิเคราะห์กับ AS-primer ที่จำเพาะกับดีเอ็นเอชนิดไม่กลายพันธุ์และ AS-primer ที่จำเพาะกับดีเอ็นเอชนิดกลายพันธุ์ ทดสอบหาขีดจำกัดต่ำสุด (เปอร์เซ็นต์ mutant allele) ที่วิธี MAS-PCR สามารถตรวจวัดได้ ผลการศึกษาพบว่าวิธี MAS-PCR ที่ใช้ AS-primers ที่จำเพาะกับดีเอ็นเอชนิดไม่กลายพันธุ์ สามารถแยกการกลายพันธุ์ของยีน K-ras ออกจากดีเอ็นเอชนิดไม่กลายพันธุ์ได้ แต่ไม่สามารถระบุชนิดการกลายพันธุ์ได้ ขีดจำกัดต่ำสุดที่ตรวจวัดได้ที่ 50-55 เปอร์เซ็นต์ mutant allele ขณะที่วิธี MAS-PCR ที่ใช้ AS-primers ที่จำเพาะกับดีเอ็นเอชนิดกลายพันธุ์ 7 ชนิดนั้น สามารถระบุชนิดการกลายพันธุ์ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ตัวอย่างชิ้นเนื้อที่ฝังพาราฟินจำนวน 270 ตัวอย่าง ที่ตรวจวิเคราะห์ด้วยวิธี MAS-PCR ให้ผลการตรวจวิเคราะห์ที่สอดคล้องกับวิธี Pyrosequencing ในระดับดีมาก (k = 0.947) มีเพียง 7 ตัวอย่างเท่านั้น ที่ให้ผลไม่สอดคล้องกัน วิธี MAS-PCR สามารถตรวจวิเคราะห์การกลายพันธุ์ได้ต่ำสุดที่ 1-2 เปอร์เซ็นต์ mutant allele ชนิดการกลายพันธุ์ที่พบได้บ่อยคือ ชนิดการกลายพันธุ์ G13D ที่ตำแหน่งโคดอน 13 คิดเป็น 49.17 เปอร์เซ็นต์ ชนิดการกลายพันธุ์ G12D คิดเป็น 25.83 เปอร์เซ็นต์ และชนิดการกลายพันธุ์ G12V คิดเป็น 12.50 เปอร์เซ็นต์ ที่ตำแหน่งโคดอน 12 ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดการกลายพันธุ์ของยีน K-ras กับลักษณะพื้นฐานทั่วไปของผู้ป่วย ที่เกี่ยวข้องกับ อายุ เพศ ลักษณะทางพยาธิวิทยาของชื้นเนื้อ และตำแหน่งของก้อนมะเร็ง วิธี MAS-PCR ที่พัฒนาขึ้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการตรวจวิเคราะห์การกลายพันธุ์ของยีน K-ras ในตัวอย่างชิ้นเนื้อที่ฝังพาราฟินของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ซึ่งเป็นวิธีที่น่าเชื่อถือ รวดเร็ว ราคาไม่แพง และไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือขั้นสูง