Abstract:
Acinetobacter baumannii เป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมลบก่อให้เกิดการติดเชื้อในหลายระบบ นับเป็นเชื้อที่เป็นปัญหาสำคัญในระบบสาธารณสุขทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย นอกจากนี้ยังพบอัตราการดื้อยาสูง ทำให้ยากลุ่มสำคัญที่ใช้รักษาการติดเชื้อได้แก่ carbapenem ถูกใช้อย่างมีข้อจำกัด กลไกหลักที่สำคัญที่ทำให้เชื้อดื้อต่อยาในกลุ่มนี้คือ การสร้างเอนไซม์ β-lactamase มาทำลายยา ซึ่งเชื้อนี้จะพบการสร้างเอนไซม์กลุ่ม OXA-type carbapenem-hydrolyzing class D β-lactamases (CHDLs) เป็นจำนวนมาก ในการศึกษานี้ได้ทำการทดสอบหาเอนไซม์ CHDLs และยีน class 1 integron โดยวิธีลูกโซ่พอลิเมอเรส (Polymerase Chain Reaction) ในเชื้อ A. baumannii จำนวน 100 สายพันธุ์ และศึกษาความสัมพันธ์เชิงพันธุกรรมด้วยวิธี Pulsed-field gel electrophoresis (PFGE) โดยเก็บตัวอย่างเชื้อแบบสุ่มจากสถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี ระหว่างปี พ.ศ. 2555-2558 ผลการศึกษาพบว่าเชื้อ A. baumannii ทุกสายพันธุ์เป็นเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะหลายขนาน (multidrug resistant) โดยพบว่าเชื้อทุกสายพันธุ์ที่นำมาทดสอบดื้อยา cefotaxime, ceftazidime และยา piperacillin ร้อยละ 100 ส่วนกลุ่มยา carbapenem (imipenem และ meropenem) ดื้อยาร้อยละ 99 ในการศึกษาครั้งนี้ตรวจพบยีน blaOXA-51 ร้อยละ 100 รองลงมาคือยีน blaOXA-23 ร้อยละ 97 แต่ไม่พบยีน blaOXA-24 และ blaOXA-58 นอกจากนี้ยังพบยีน class1 integron ร้อยละ 23 พบว่าผลศึกษาความสัมพันธ์เชิงพันธุกรรมด้วยวิธี PFGE แบ่งกลุ่มเชื้อได้ 18 Pulsotype โดยมี Pulsotype 1 ร้อยละ 54 ซึ่งให้ผลบวก blaOXA-23 และ blaOXA-51 และให้ผลลบกับ Class I Integron กลุ่มรองลงมาได้แก่ Pulsotype 2 ร้อยละ 11 ซึ่งให้ผลบวก blaOXA-23 และ blaOXA-51 และให้ผลบวก Class I Integron โดยในแต่ละ Pulsotype ที่พบนั้นมีการกระจายไปในหลายหอผู้ป่วย เนื่องมาจากการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากหอหนึ่งไปสู่อีกหอหนึ่ง การสับเปลี่ยนหน้าที่กันของเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ หรือการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ร่วมกัน จึงทำให้มีการแพร่กระจายของเชื้อจนยากแก่การควบคุมในปัจจุบัน