Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความเสี่ยงโดยศึกษาแหล่งที่มาและเส้นทางการปนเปื้อนของ Listeria spp. ในกระบวนการผลิตไก่ปรุงสุกแช่เยือกแข็งโดยใช้วิธีทางอณูชีววิทยา และหาแนวทางการควบคุมและจัดการความเสี่ยง เพื่อลดการปนเปื้อนของ Listeria spp. ในผลิตภัณฑ์สุดท้าย งานวิจัยนี้ได้ศึกษาสภาวะที่เหมาะสมของวิธี Random amplification of polymorphie DNA (RAPD) โดยเริ่มจากการคัดเลือกไพรเมอร์ที่เหมาะสมในการเพิ่มปริมาณดีเอ็นเอ ได้คัดเลือกไพรเมอร์ 4 ชนิดจาก 14 ชนิด จากนั้นจึงศึกษาความเข้มข้นของปริมาณดีเอ็นเอที่เหมาะสมกับไพรเมอร์ที่เลือก พบว่าไพรเมอร์ที่สามารถจำแนกสายพันธุ์ของ L.innocua ได้ดี คือ OMP-01, HLWL 74, HLWL 85 และ Universal forward sequencing primer (UFS) ความเข้มข้นของปริมาณดีเอ็นเอที่เหมาะสมกับไพรเมอร์ทั้ง 4 ชนิดคือ 5 ng/{u1D707}l จากนั้นจึงตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างด้วยวิธี RAPD แล้วประเมินความสอดคล้องของการปนเปื้อนของเชื้อในผลิตภัณฑ์และในสิ่งแวดล้อม พบว่าตัวอย่างผลิตภัณฑ์ และสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อน Listeria spp. รวม 415 ตัวอย่าง พบ L.innocua 82.3%, L. welshimeri 11.2%, L.seeligeri 5.5% และ L.monocytogenes 1% เมื่อจำแนกสายพันธุ์ของ Listeria spp. พบ L.innocua สายพันธุ์ LI 1.1, L.welshimeri สายพันธุ์ LW 1.5 และ L.seeligeri สายพันธุ์ LS1 ในผลิตภัณฑ์ โดยพบ L.innocua สายพันธุ์ LI 1.1 ดำรงอยู่มากที่สุดในสิ่งแวดล้อมตลอดระยะเวลาการเก็บตัวอย่าง และพบแหล่งการปนเปื้อนที่สำคัญคือท่อระบายก๊าซไนโตรเจนของเครื่อง Liquid N₂ chiller, สายพานลำเลียงของเครื่องตรวจจับโลหะ และท่อระบายน้ำของเครื่องแช่เยือกแข็ง ดังนั้นจึงได้มีการทบทวนวิธีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ และนำไปปฏิบัติใช้อย่างเข้มงวด เพื่อลดและกำจัดความเสี่ยงของการปนเปื้อนของ Listeria ในกระบวนการผลิตเนื้อไก่ปรุงสุกแช่เยือกแข็งนี้