Abstract:
โพรพอลิส (propolis) เป็นสารผสมที่มีลักษณะเป็นยางเหนียว ได้มาจากยางไม้ที่ผึ้งงานรวบรวมมาเพื่อใช้ป้องกันศัตรูพืชและเชื้อโรคภายในรัง การทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดจากโพรพอลิสของชันโรง 2 ชนิด คือ Tetrigona apicalis และ Trigona thoracica จากจังหวัดกาญจนบุรี ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราก่อโรคผิวหนังในคน 4 ชนิด คือ Trichophyton rubrum, Trichophyton mentagrophytes, Microsporum canis และ Microsporum gypseum โดยสกัดโพรพอลิสด้วยน้ำกลั่นและ 95%, 70%, 40% และ 5% เอธิลแอลกอฮอล์ โดยสารสกัดหยาบจากโพรพอลิสของ Trigona thoracica คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ยีลด์ (percent yield) ได้ 47.45%, 55.12%, 6.00% และ 2.33% ตามลำดับ สำหรับโพรพอลิสที่สกัดด้วยน้ำกลั่นมีเชื้อราเกิดขึ้นจึงไม่นำมาทำการทดลองต่อ ส่วนสารสกัดจากโพรพอลิสของ Tetrigona apicalis ที่สกัดด้วย 95%, 70%, 40% และ 5% เอธิลแอลกอฮอล์ คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ยีลด์ได้ 43.67%, 22.93%, 1.08% และ 3.08% ตามลำดับ จากนั้นนำสารสกัดโพรพอลิสที่ได้ไปละลายใน 1% Dimethylsulfoxide (DMSO) และ acetone (ในกรณีที่ไม่ละลายใน 1% DMSO) แล้วนำไปผสมลงในอาหารเลี้ยงเชื้อให้ได้ความเข้มข้นของสารสกัดที่ 64 mg/ml. และใช้ 1% DMSO และ acetone ผสมในอาหารเป็นชุดควบคุมในการเลี้ยงเชื้อ สำหรับผลการทดสอบการยับยั้งการเจริญของเชื้อรา พบว่าสารสกัดจากรัง T. thoracica สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อราได้ทุกชนิด ส่วนสารสกัดจากรัง T.apicalis สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อราได้ทุกชนิดยกเว้น T.mentagrophytes โดยที่ผลการยับยั้งเชื้อราของโพรพอลิสทั้ง 2 ชนิด ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ