Abstract:
เกาะหูยง (เกาะหนึ่ง) ของหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา เป็นพื้นที่วางไข่ที่สำคัญของเต่าทะเลในฝั่งทะเลอันดามัน โดยพบเต่าตนุใช้พื้นที่หาดทรายของเกาะสำหรับวางไข่เป็นจำนวนมากที่สุดเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นในฝั่งทะเลอันดามัน จนได้รับการพิจารณาให้เป็นหนึ่งในพื้นที่ดำเนินการของโครงการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลฝั่งทะเลอันดามันของกองทัพเรือ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 จากการสำรวจภาคสนามในช่วงปี พ.ศ. 2553-2554 ที่เกาะหูยง คณะผู้วิจัยได้พบการขึ้นวางไข่ของเต่าตนุจำนวน 28 รัง โดยมีจำนวนไข่ต่อหลุม (clutch size) เฉลี่ย 105±23 ฟอง เมื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิสิ่งแวดล้อมในช่วง 8 สัปดาห์ ในช่วงฤดูการวางไข่ พบว่าอุณหภูมิอากาศบริเวณหาดทรายที่พบการทำรังวางไข่มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ 23.6 ถึง 35.4 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ดีในหลุมทรายที่เต่าทำรังจะมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในช่วงแคบ โดยมีความแตกต่างของอุณหภูมิสูงสุด-ต่ำสุดเพียง 1.4 ถึง 2.2 องศาเซลเซียสเท่านั้น เมื่อเจาะเลือดเต่าเพศเมียจากตำแหน่ง external jugular vein (dorsal cervical sinus) ปริมาตร 0.5 มิลลิลิตร นำมาตรวจสอบค่าทางโลหิตวิทยา ได้แก่ ชนิดและจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาว และจำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดง เพื่อตรวจสอบสุขภาวะโดยรวมของเต่าในธรรมชาติ พบว่าเต่าตนุที่ขึ้นวางไข่มีจำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดงเฉลี่ย 406,667±51,377 เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิเมตร และเซลล์เม็ดเลือดขาวเฉลี่ย 19,847±9,328 เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิเมตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ปรกติ (reference interval) ที่รายงานในเต่าตนุที่พบในธรรมชาติและในที่เลี้ยง และมีการกระจายของค่าร้อยละของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดย่อยเป็นแบบปรกติ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสุขภาพและความสมบูรณ์ของเต่าตนุที่ขึ้นวางไข่ที่เกาะหูยง ข้อมูลด้านนิเวศสรีรวิทยาเหล่านี้สามารถนำมาใช้บ่งบอกการดำรงชีวิตของสัตว์ในธรรมชาติ และเมื่อเก็บรวบรวมอย่างต่อเนื่องจะเป็นประโยชน์ต่อการติดตามตรวจสอบสุขภาวะในระยะยาว เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเกาะหูยงให้เป็นสถานที่ศึกาและอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลอย่างยั่งยืนต่อไป