Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิด และวิธีแสดงโขนลิง ซึ่งมีความสำคัญมากต่อการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ วิธีดำเนินการวิจัยใช้การวิจัยเอกสาร การสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม และการวิเคราะห์จากกระบวนท่าเต้นและลีลาท่าทางของโขนลิง การวิจัยพบว่า แนวคิด และวิธีแสดงโขนลิง มีที่มาจากแนวคิดเชิงธรรมชาติวิทยาของลิงอันได้แก่ลิงแสม ซึ่งโบราณาจารย์ได้นำมาเป็นต้นแบบ ถือเป็นต้นกำเนิดที่มีการผสมผสานกับแนวคิดต่างๆ ดังนี้ แนวคิดเชิงศาสนาฮินดูกล่าวถึงลักษณะที่สง่างามของความเทพ แนวคิดเชิงทฤษฎีการเลียนแบบเรขศิลป์กระบวนท่าหลักของโขนลิงแสดงลักษณะเรขศิลป์ชัดเจนมาก แนวคิดเชิงทฤษฎีการเคลื่อนไหวกระบวนรำของโขนลิงวิเคราะห์ในเชิงนาฏยประดิษฐ์ได้อย่างชัดเจน แนวคิดเชิงทฤษฎีการสร้างสรรค์องค์ประกอบทางศิลปะในการแสดงโขนลิงสามารถสัมผัสได้ แนวคิดเชิงวิจิตรศิลป์ กระบวนท่าจับของโขนลิงกับโขนตัวอื่นปรากฏในภาพศิลปกรรม จิตรกรรมฝาผนัง และภาพหนังใหญ่ แนวคิดเชิงวรรณกรรมพระราชนิพนธ์บทรามเกียรติ์ของไทยเป็นเนื้อหาหลักของการแสดงโขน
แนวคิดเชิงการรับราชการเป็นอุดมการณ์ของทหาร โขนลิงยึดหลักการรับใช้พระรามและพระลักษมณ์ และแนวคิดเชิงศิลปะการแสดงดั้งเดิมพบกระบวนรำของการละเล่นของหลวงในท่าพื้นฐานโขนลิง จากการบูรณาการแนวคิดข้างต้น โบราณาจารย์ได้พัฒนากระบวนการฝึกหัดที่เข้มงวดใช้เวลานานถึง 8 ปี การฝึกหัดนี้เริ่มต้นด้วยการเลือกเด็กชายวัยเยาว์ ผู้มีรูปร่าง และนิสัยเหมาะสม การฝึกหัดเริ่มจากการปรับร่างกาย การฝึกจังหวะ และท่าพื้นฐานซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการแสดงโขนลิงทั่วไป จากนั้นเป็นการฝึกหัดการรำเข้าเพลง การรำหน้าพาทย์ และการรำทำบท ซึ่งจะนำไปใช้สำหรับโขนตัวนาย เป็นการรำที่มีการออกแบบเฉพาะพาลี สุครีพ หนุมาน เป็นต้น ต่อไปจะเป็นการรำเป็นชุดเป็นตอน สำหรับรำกับพระ นาง และยักษ์ วิธีแสดงโขนลิงเป็นการสร้างรูปแบบ โดยนำมนุษย์ผู้ชายเป็นหลัก แล้วตกแต่งโครงสร้าง และการเคลื่อนไหว เพื่อเป็นการเสริมให้ได้บุคลิกเด่นของลิงในจารีตการแสดงโขน การแสดงออกของโขนลิงเชิงนาฏยศิลป์ เป็นการรำทำบท ส่วนในเวลาพักไม่ได้ทำบทจะใช้ท่าเลียนแบบธรรมชาติของลิง นับว่าโบราณาจารย์ได้แสดงภูมิปัญญาให้ผู้ชมรับรู้ได้ทันทีว่าต้นตอความเป็นมาในการแสดงโขนลิงนั้นเป็นอย่างไร และใช้อย่างไรให้เหมาะสม