Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษากำลังแรงยึดแบบเฉือนระหว่างเซโรเมอร์ กับเรซิน คอมโพสิตภายหลังจากการปรับปรุงพื้นผิวในรูปแบบต่างๆ 3 ประเภท คือ การเป่าทราย การใช้กรดกัดพื้นผิวและการเคลือบพื้นผิว และทดสอบการให้ความร้อนภายหลังการยึดด้วยเรซิน คอมโพสิต โดยเตรียม Targis รูปดิสก์ (ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 9 มิลลิเมตร หนา 2 มิลลิเมตร) จำนวน 110 ชิ้น ในตอนที่ 1 ศึกษาการปรับปรุงพื้นผิวในรูปแบบต่างๆ โดยแบ่ง 8 กลุ่ม กลุ่มละ 10 ชิ้น ทำการปรับปรุงพื้นผิว 4 แบบ คือ แบบที่ 1) เป่าทรายด้วยผงอะลูมิเนียม อ็อกไซด์ ขนาดอนุภาค 50 ไมครอน แบบที่ 2) เป่าทรายและกรดฟอสฟอริกร้อยละ 37 โดยน้ำหนัก แบบที่ 3) เป่าทรายและสารซีเลน และแบบที่ 4) เป่าทราย กรดฟอสฟอริกร้อยละ 37 โดยน้ำหนักและสารซีเลน จากนั้นทำการยึดด้วยเรซิน คอมโพสิต โดยที่กลุ่มที่ 1-4 ทำการยึดด้วย Z 250 ในขณะที่กลุ่มที่ 5-8 ทำการยึดด้วย Tetric Ceram จากนั้นทดสอบกำลังแรงยึดแบบเฉือนด้วยเครื่องลอยด์ อินสตรูเมนต์ ความเร็วของหัวทดสอบ 0.75 มิลลิเมตรต่อนาที นำข้อมูลมาทดสอบทางสถิติด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว แล้วทำการเปรียบเทียบเชิงซ้อนแบบทูกีย์ โดยได้ผลการทดลองดังนี้คือ กลุ่มที่ 3 มีค่าเฉลี่ยของกำลังแรงยึดแบบเฉือนมากที่สุด คือ 6.7 +- 1.3 เมกะปาสคาล โดยที่กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่ 3 และกลุ่มที่ 4 มีค่าเฉลี่ยของกำลังแรงยึดแบบเฉือนไม่แตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ตอนที่ 2 ศึกษาผลของกำลังแรงยึดแบบเฉือนเมื่อบ่มด้วยความร้อน โดยสุ่มตัวอย่าง 30 ชิ้น และแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม (กลุ่มที่ 9-11) ทุกกลุ่มทำการปรับปรุงพื้นผิวและยึดด้วยเรซิน คอมโพสิตเหมือนกับกลุ่มที่ 3 จากนั้นบ่มด้วยความร้อนที่อุณหภูมิต่างๆกันเป็นเวลา 2 นาที คือ 41 46 และ 60 องศาเซลเซียสตามลำดับ ทำการทดสอบและวิเคราะห์ทางสถิติเหมือนตอนที่ 1 โดยได้ผลการทดลองดังนี้คือ กลุ่มที่ 11 มีค่าเฉลี่ยของกำลังแรงยึดแบบเฉือนมากที่สุด คือ 11.26 + 1.8 เมกะปาสคาล กลุ่มที่ 9 กลุ่มที่ 10 และกลุ่มที่ 11 มีค่าเฉลี่ยของกำลังแรงยึดแบบเฉือนแตกต่างกับกลุ่มที่ 3 ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 การวิจัยนี้มีข้อแนะนำในการยึด Targis ว่าการปรับสภาพผิวด้วยการเป่าทรายและการทาสารซีเลน เป็นวิธีการที่เหมาะสมและให้ประสิทธิภาพดีที่สุด และเมื่อเพิ่มการบ่มด้วยความร้อนที่อุณหภูมิคงที่ 41 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 2 นาที ภายหลังจากการยึดจะทำให้ค่าเฉลี่ยของกำลังแรงยึดแบบเฉือนเพิ่มขึ้น