Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาและตรวจสอบความตรง ของโมเดลเชิงสาเหตุของความผูกพันต่อองค์การ 2 โมเดลว่ามีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์อย่างไร โมเดลแบบ ก เป็นโมเดลที่มีอิทธิพลทางตรงแรงจูงใจจากความคาดหวังในงาน ไปความพึงพอใจในงานและจากความพึงพอใจในงานไปความผูกพันต่อองค์การ โมเดลแบบ ข เป็นโมเดลที่มีอิทธิพลทางตรงจากแรงจูงใจจากความคาดหวังในงานไปความพึงพอใจในงาน และความผูกพันต่อองค์การและมีอิทธิพลทางตรงจากความพึงพอใจในงานไปความผูกพันต่อองค์การ และ 2) เพื่อเปรียบเทียบโมเดลแข่งขัน (competitive models) ระหว่างโมเดลแบบ ก และ โมเดลแบบ ข กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ เภสัชกรปฏิบัติงานคุ้มครองผู้บริโภค จำนวน 475 คน ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยตัวแปรแฝงและตัวแปรที่สังเกตได้ดังนี้คือ ตัวแปรภายในแฝง 2 ตัวแปร คือ ความพึงพอใจในงาน ประกอบด้วยตัวแปรที่สังเกตได้ 5 ตัวแปร คือ ลักษณะงาน ค่าตอบแทนโอกาสก้าวหน้า ความสัมพันธ์กับผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน ตัวแปรแฝงความผูกพันต่อองค์การ ประกอบด้วยตัวแปรที่สังเกตได้ 3 ตัวแปร คือ ความผูกพันต่อองค์การด้านความรู้สึก ด้านความต่อเนื่อง และด้านบรรทัดฐานทางสังคม ตัวแปรภายนอกแฝง 1 ตัวแปร คือ แรงจูงใจจากความคาดหวังในงาน ประกอบด้วยตัวแปรที่สังเกตได้ 1 ตัวแปร คือผลคูณของความคาดหวังเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะสามารถทำงานให้สำเร็จกับผลรวมของผลคูณระหว่างความคาดหวังในโอกาสที่จะได้รับผลลัพธ์หรือผลตอบแทนกับความสำคัญของผลลัพธ์หรือผลตอบแทน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือมาตรประมาณค่า มีค่าสัมประสิทธิ์ค่วามเที่ยงตั้งแต่ .93-.97 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติบรรยาย การวิเคราะห์ความแตกต่างค่าเฉลี่ย การวิเคราะห์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน การวิเคราะห์โมเดลลิสเรล ผลการวิจัยที่สำคัญสรุปได้ดังนี้ 1. โมเดลเชิงสาเหตุความผูกพันต่อองค์การสอดคล้องกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์ทั้งสองโมเดล กล่าวคือ โมเดล ก (chi-square = 19.10, df=14,p = .16, GFI=.99, AGFI=.97, RMSEA=.02) ตัวแปรความผูกพันต่อองค์การ ในโมเดล ก ได้รับอิทธิพลทางตรงจากตัวแปรความพึงพอใจในงาน และได้รับอิทธิพลทางอ้อมจากตัวแปร แรงจูงใจจากความคาดหวังในงานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และโมเดล ข (chi-square=27.95, df=18, p=.06 GFI=.99, AGFI=.97, RMSEA=.03) ตัวแปรความผูกพันต่อองค์การได้รับอิทธิพลทางตรงจากตัวแปรความพึงพอใจในงานและได้รับอิทธิพลทางตรงและทางอ้อมจากตัวแปรแรงจูงใจจากความคาดหวังในงานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 2. ผลการเปรียบเทียบโมเดลเชิงสาเหตุความผูกพันต่อองค์การระหว่างโมเดลแข่งขันทั้ง 2 โมเดล พบว่า โมเดล ก และโมเดล ข มีความสอดคล้องกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์เท่าเทียมกัน