Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดความต้องการจำเป็นของนักเรียนมัธยมศึกษาด้านความใฝ่รู้ วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อความใฝ่รู้ และเพื่อวิเคราะห์แนวทางที่เหมาะสมในการพัฒนาความใฝ่รู้ของนักเรียน ดำเนินการวิจัยเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การกำหนดความต้องการจำเป็นในการพัฒนาความใฝ่รู้ โดยใช้แบบสอบถามในการเก็บข้อมูลจากนักเรียน ใช้ตัวอย่างจากการสุ่มแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติภาคบรรยาย และใช้สถิติการทดสอบที (t-test) และระยะที่ 2 การวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อความใฝ่รู้ โดยใช้แบบสอบถามและวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์ถดถอยเชิงเส้นพหุ (Multiple Linear Regression) และการใช้วิเคราะห์เนื้อหากับการสัมภาษณ์นักเรียนและครู และระยะที่ 3 การวิเคราะห์แนวทางที่เหมาะสมในการพัฒนาความใฝ่รู้ โดยการสัมภาษณ์ครู ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. นักเรียนระดับมัธยมศึกษาทุกระดับชั้นทั้งสังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษามีความใฝ่รู้ในระดับปานกลาง และมีความต้องการจำเป็นด้านความใฝ่รู้อย่างเร่งด่วน ทุกด้าน 2. ผลการวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อความใฝ่รู้ พบว่าตัวแปรอิสระที่สามารถทำนายระดับความใฝ่รู้ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติได้แก่ การเห็นคุณค่าในตนเอง แรงจูงใจ บรรยากาศในการเรียนรู้ และกิจกรรมในชั้นเรียน สามารถทำนายได้ร้อยละ 67 3. แนวทางที่เหมาะสมในการพัฒนาความใฝ่รู้ คือ การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในโรงเรียน และการได้รับการสนับสนุนอย่างสม่ำเสมอจากครอบครัว