Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาอิทธิพลของ ฤดูกาล ภูมิอากาศ และช่วงความยาวแสงต่ออายุที่เป็นสัดครั้งแรกในสุกรสาวพันธุ์ผสมแลนเรชและยอร์กเชียร์ และเพื่อศึกาอิทธิพลของความหนาไขมันสันหลังต่อขนาดครอกในแม่สุกรท้องแรก การทดลองที่ 1 เก็บข้อมูลทางการสืบพันธุ์จากฟาร์มสุกรเอกชนจำนวน 4 ฟาร์ม ในประเทศไทย ข้อมูลทั้งหมดประกอบด้วยสุกรสาว จำนวน 10,434 ตัว การทดลองที่ 2 ทำในสุกรสาวพันธุ์แลนด์เรช x ยอร์คเชียร์ จำนวน 201 ตัว จากฟาร์มที่เลี้ยงในระบบเปิดในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศไทย ในการทดลองที่ 1 สุกรสาวเริ่มเข้าฝูงเมื่ออายุ 173.9 วัน (91.9 กิโลกรัม) และออกจากฝูงเมื่ออายุ 225.5 วัน (131.3 กิโลกรัม) ตรวจการเป็นสัดหลังจากสุกรสาวเข้าฝูง จากการทดลองสุกรสาวกลุ่มนี้ 64% (6,677/10434) แสดงการเป็นสัดอย่างน้อย 1 ครั้งก่อนที่จะถูกส่งมายังโรงเรือนผสมพันธุ์ โดยเฉลี่ยสุกรสาวแสดงการเป็นสัดครั้งแรก เมื่ออายุ 31.6±0.3 วัน หลังจากเข้าฝูง และอายุเฉลี่ยที่สุกรสาวแสดงการเป็นสัดครั้งแรก คือ 199.0±0.4 วัน สุกรสาวที่แสดงการเป็นสัดครั้งแรกในฤดูหนาว (211.1±0.5 วัน) จะมีอายุมากกว่าสุกรสาวที่แสดงการเป็นสัดครั้งแรกในฤดูร้อน (208.7±0.6 วัน P=0.012) และในฤดูฝน (207.4±0.5 วัน P<0.001) อย่างไรก็ตามสุกรสาวที่เข้าฝูงในช่วงฤดูหนาว (31.4±0.5 วัน) มีช่วงที่แสดงการเป็นสัดครั้งแรกหลังจากเข้าฝูงเร็วกว่าสุกรสาวที่เข้าฝูงในช่วงฤดูร้อน (37.5±0.5 วัน P<0.001) และฤดูฝน (34.3±0.5 วัน P<0.001) สุกรสาวที่สัมผัสกับอุณหภูมิสูง ดัชนีอุณหภูมิความชื้น (THI) สูง หรือช่วงแสงสั้นในระหว่าง 30 วันก่อนเข้าฝูง มีอายุที่เป็นสัดครั้งแรกมากกว่าสุกรสาวที่สัมผัสกับอุณหภูมิต่ำ ดัชนีอุณหภูมิความชื้นต่ำ หรือช่วงแสงยาว การเพิ่มช่วงแสงให้มากขึ้น 1 ชั่วโมงส่งผลให้อายุการเป็นสัดครั้งแรกลดลง 3.04 วัน (P<0.001) สุกรสาวที่เข้าฝูงเมื่ออายุมากมีอายุที่เป็นสัดครั้งแรกมากกว่าสุกรสาวที่เข้าฝูงเมื่ออายุน้อย (r=0.445, P=0.005) การกระตุ้นและการตรวจการเป็นสัดอย่างเข้มงวดและระมัดระวังควรจะทำในช่วงที่สุกรสาวเข้าฝูงช่วงฤดูร้อน นอกจากนี้โรงเรือน ระบบการจัดการแสงและการจัดการอาหาร ควรมีการเตรียมการอย่างดีสำหรับสุกรสาวซึ่งจะถูกนำเข้าฝูงในช่วงฤดูหนาว นอกจากนี้ อายุ น้ำหนักตัว และ อัตราการเจริญเติบโตของสุกรสาว ก็ควรให้ความสำคัญก่อนคัดเลือกสุกรสาวเข้าฝูง ในการทดลองที่ 2 วัดความหนาไขมันสันหลังสุกรสาวโดยใช้อัลตร้าซาวด์ชนิดเอโหมด จำนวน 3 ครั้ง ครั้งแรกในวันที่ผสมพันธุ์ ครั้งที่ 2 หลังอุ้มท้อง 70 วัน และครั้งที่สาม ที่หนึ่งสัปดาห์ก่อนคลอด ความหนาไขมันสันหลังที่วัดได้ในแม่สุกรสาวแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีความหนาไขมันสันหลังสูง (17-20 มิลลิเมตร) ปานกลาง (14.0-16.5 มิลลิเมตร) และต่ำ (11.0-13.5 มิลลิเมตร) ผลการศึกษาพบว่าในแม่สุกรสาวที่มีความหนาไขมันสันหลังสูงในวันผสมมีขนาดครอกใหญ่ที่สุด (13.1±0.5 ตัว) ส่วนสุกรสาวที่มีความหนาไขมันสันหลังปานกลาง และต่ำในวันผสม มีขนาดครอกใกล้เคียงกัน คือ 12.0±0.4 และ 12.0±0.6 ตัวตามลำดับ