Abstract:
ศึกษาภาพรวมโครงสร้างตลาด พฤติกรรมการแข่งขัน รวมถึงศักยภาพและความสามารถในการแข่งขัน ของธุรกิจโลจิสติกส์ของไทย โดยมีขอบเขตการศึกษาคือ ธุรกิจโลจิสติกส์ของไทยที่ให้บริการงานทางด้านโลจิสติกส์ทั้ง 3 งาน ได้แก่ ด้านการขนส่งสินค้า ด้านการจัดเก็บดูแลและบริหารคลังสินค้าและการติดสลากหรือบรรจุภัณฑ์ ด้านการให้บริการพิธีการต่างๆ ที่เกี่ยวกับงานโลจิสติกส์ จากนั้นจึงนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในเชิงปริมาณคือ การคำนวณค่าการกระจุกตัว โดยใช้อัตราส่วนการกระจุกตัว (Concentration ratio : CR) และดัชนีเฮร์ฟิลดัล (HerfindahI Summary Index : HSI) การวิเคราะห์ในเชิงพรรณนา จะพิจารณาถึงพฤติกรรมการแข่งขันของธุรกิจโลจิสติกส์ของไทย และใช้ Porter's Diamond Model ในการวิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งการประเมินศักยภาพและผลการดำเนินงานในด้านต่างๆ โดยใช้แนวคิด Balanced scorecard (BSC) ตัวชี้วัด Key performance indicators (KPI) การวิเคราะห์ช่องว่าง (Gap analysis) และ General electric model (GE Model) ผลการศึกษาพบว่า ธุรกิจโลจิสติกส์ของไทยนั้นมีการกระจุกตัวในระดับปานกลางค่อนข้างน้อย ส่งผลให้มีการแข่งขันกันค่อนข้างมาก และมีพฤติกรรมการแข่งขันทางด้านราคาสูง อีกทั้งอุปสรรคในการเข้า/ออกจากตลาดมีน้อย
จึงจัดได้ว่าธุรกิจโลจิสติกส์ของไทยมีโครงสร้างตลาดแบบกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด (Monopolistic competition) และแม้ว่าธุรกิจโลจิสติกส์ของไทยนั้นจะมีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการสนับสนุนจากภาครัฐแต่ยังคงขาดความพร้อมทางด้านการเงินทุน ด้านบุคลากรและด้านเทคโนโลยี รวมถึงศักยภาพของธุรกิจโลจิสติกส์ของไทยที่มีศักยภาพค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับธุรกิจโลจิสติกส์ของต่างชาติ ดังนั้นผู้ประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ของไทยควรเร่งพัฒนาศักยภาพให้สูงขึ้น อีกทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องควรให้การสนับสนุนธุรกิจที่ให้บริการทางด้านโลจิสติกส์ เพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ และเพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคอินโจีน (Logistics hub of Indo-China) อย่างมีประสิทธิภาพ