Abstract:
วิเคราะห์วรรณกรรมของนยันตารา ซาห์คัล 3 เรื่อง ได้แก่ This Time of Morning, Rich Like Us และ Mistaken Identity เพื่อศึกษาบทบาทและหน้าที่ของสำนึกทางการเมืองและสังคมในซาห์คัล ที่มีส่วนในการประพันธ์นวนิยาย ช่วงทศวรรษ์ที่ 1930 เป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอินเดียมากที่สุดช่วงหนึ่ง นักเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างรณรงค์ทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ เหตุการณ์ระหว่างนั้นกลายเป็นวัตถุดิบชั้นดีสำหรับนักเขียนชาวอินเดียร่วมสมัย นวนิยายจึงกลายเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและสังคม อีกทั้งกระตุ้นเตือนประชาชนให้ร่วมเรียกร้องเอกราชด้วยกัน และนยันตารา ซาห์คัลก็เป็นนักเขียนชาวอินเดียคนหนึ่งในช่วงนั้น นยันตารา ซาห์คับเกิดในครอบครัวชนชั้นสูงของนักการเมือง ได้รับการศึกษา ทำงานในแวดวงการเมืองก่อนที่จะมาเป็นนักหนังสือพิมพ์ อีกทั้งเป็นคนสนิทของนักการเมืองอินเดียที่สำคัญๆ ร่วมสมัย สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยก่อให้เกิดสำนึกทางการเมืองและสังคมทางการเมือง และเป็นแรงผลักดันให้นางเขียนนวนิยายโดยใช้เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เป็นภูมิหลัง จากการวิเคราะห์นวนิยายทั้ง 3 เล่ม ทำให้ผู้วิจัยพบว่าสำนึกทางการเมืองและสังคม ทำให้ผู้ประพันธ์บันทึกและวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ทางการเมืองและสังคมร่วมสมัยในรูปแบบนวนิยาย ด้วยมุมมองของที่ต่างออกไปจากนักเขียนอินเดียคนอื่นในช่วงเดียวกัน เนื่องจากการเป็นคนในครอบครัวนักการเมืองและการเป็นนักหนังสือพิมพ์ ทำให้เธอสามารถเข้าถึงสภาพการณ์ทางการเมืองอย่างที่นักเขียนคนอื่นไม่อาจทำได้ สำนึกทางการเมืองและสังคมยังกระตุ้นให้ผู้ประพันธ์สะท้อนภาพสังคมอินเดียในมุมมองต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องศาสนา วรรณะ และเพศสภาวะ นวนิยายอิงประวัติศาสตร์การเมืองและสังคมทั้ง 3 เล่มของนยันตารา ซาห์คัล ทำให้เห็นว่าสำนึกทางการเมืองและสังคมทำให้ผู้ประพันธ์สนใจการเมืองและสังคมอินเดีย ในแง่มุมที่หลากหลายและลึกซึ้ง นับตั้งแต่ช่วงก่อนเอกราชจนถึงหลังเอกราชอย่างละเอียดละออ จนทำให้ผู้อ่านเห็นสภาพ รวมทั้งปัญหาต่างๆ ในการเมืองและสังคมช่วงนั้นได้เป็นอย่างดี