Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ใช้ข้อมูลรายการซื้อขาย (Transaction Data) บนหลักทรัพย์ 96 หลักทรัพย์ในช่วงเวลาตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2539 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2541 เพื่อทดสอบว่า เกิดพฤติกรรมแห่ตามกันขึ้นหลังเกิดการซื้อขายปริมาณมากหรือไม่ และมีปัจจัยใดที่ส่งผลต่อระดับของพฤติกรรมแห่ตามกัน รวมทั้งศึกษาถึงความเร็วในการปรับตัวของราคาหลังเกิดการซื้อขายปริมาณมาก ขนาดของผลกระทบต่อราคาแบบต่าง ๆ และพยายามหาสมมติฐานที่สามารถอธิบายผลกระทบต่อราคาดังกล่าวได้ดีที่สุด โดยผลการศึกษาพบว่า ในช่วง 20 นาทีแรกหลังการซื้อขายปริมาณมากจะเกิดพฤติกรรมแห่ตามกันซึ่งมีระดับเฉลี่ยระหว่าง 9 ถึง 11 เปอร์เซ็นต์ โดยระดับพฤติกรรมแห่ตามกันมีแนวโน้มลดลงเมื่อเวลาผ่านไป และระดับพฤติกรรมแห่ตามกันในทิศทางตรงข้ามกับการซื้อขายปริมาณมากจะมีค่าสูงกว่าระดับพฤติกรรมแห่ตามกันในทิศเดียวกับการซื้อขายปริมาณมาก โดยระดับพฤติกรรมแห่ตามกันจะมีความสัมพันธ์ทางบวกกับมูลค่าของรายการซื้อขายปริมาณมาก (บาท) แต่กลับมีความสัมพันธ์ทางลบกับราคาหลักทรัพย์ และผลตอบแทนในช่วง 5 นาทีก่อนเกิดการซื้อขายปริมาณมาก นอกจากนี้พบว่า ในตลาดหลักทรัพย์ไทย มีแนวโน้มเกิดพฤติกรรมแห่ซื้อได้มากกว่าพฤติกรรมแห่ขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการขายหลักทรัพย์ปริมาณมาก การศึกษาเกี่ยวกับการปรับตัวของราคาแสดงให้เห็นว่า ราคาหลักทรัพย์ใช้เวลาปรับตัวประมาณ 25 และ 20 นาทีหลังเกิดการซื้อและขายปริมาณมากตามลำดับ แต่กลุ่มตัวอย่างที่เกิดพฤติกรรมแห่ตามกันในระดับสูงจะใช้เวลาในการปรับตัวน้อยกว่า โดยการปรับตัวในช่วง 5 นาทีแรกจะเป็นการปรับตัวในทิศทางเดียวกับการซื้อขายปริมาณมาก นอกจากนี้พบว่า เกิดผลกระทบต่อราคาแบบถาวรมีขนาดใหญ่กว่าผลกระทบแบบชั่วคราว และผลกระทบต่อราคาแบบถาวรมีความสัมพันธ์ในทางบวกกับขนาดของการซื้อขายปริมาณมาก ในขณะที่ผลกระทบต่อราคาแบบชั่วคราวมีความสัมพันธ์ในทางบวกกับขนาดของการซื้อขายปริมาณมากบนหลักทรัพย์ที่เป็นวอร์แรนท์เท่านั้น จึงสรุปได้ว่าสมมติฐานเกี่ยวกับข้อมูล (Information Hypothesis) เป็นสาเหตุให้เกิดผลกระทบต่อราคาดังกล่าว ส่วนสมมติฐานเกี่ยวกับสภาพคล่อง (Liquidity Hypothesis) สามารถอธิบายได้เฉพาะกรณีที่หลักทรัพย์เป็นวอร์แรนท์เท่านั้น