Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งสำรวจและวิเคราะห์วาทกรรมความพิการในเรื่องเล่าสมัยใหม่ของไทย ซึ่งประกอบด้วยนวนิยายที่เขียนโดยนักเขียนที่ไม่ใช่คนพิการ และเรื่องเล่าชีวิตที่เขียนโดยนักเขียนที่เป็นคนพิการ ซึ่งตีพิมพ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 ถึง 2546 เพื่อให้เห็นกระบวนการสร้างความหมายของ "ความพิการ" ที่เปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละยุคสมัย และศึกษาวาทกรรมและปฏิบัติการทางสังคมและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับความพิการ ซึ่งเป็นบริบทของการสร้างงานเขียนที่ศึกษา จากการศึกษาพบว่าความหมายของความพิการมีความเปลี่ยนแปลงไปตามปฏิสัมพันธ์ของวาทกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับความพิการในแต่ละยุคสมัย ในยุคจารีต ความพิการหมายถึงวิบากกรรมและวัตถุเพื่อการสงเคราะห์ จากวาทกรรมศาสนาพุทธ ได้แก่ ความเชื่อเรื่องกรรมเก่า การเวียนว่ายตายเกิด การทำบุญทำทาน และความเมตตากรุณา ในยุคเวทนานิยม-สังคมสงเคราะห์ ซึ่งแบ่งออกเป็นยุคการสร้างชาติไทยไปสู่อารยะ (2476-2500) ซึ่งมีวาทกรรมสำคัญ คือ วาทกรรมการแพทย์ วาทกรรมยูเจนิกส์ และวาทกรรมการสงเคราะห์ ซึ่งสร้างความหมายการเป็นความบกพร่องผิดปกติ และวัตถุเพื่อการสงเคราะห์ กับยุคการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ (2500-2524) ซึ่งมีวาทกรรมสำคัญ คือ วาทกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพ ซึ่งทำให้ความพิการหมายถึงภาระของสังคมที่ต้องการการฟื้นฟู วาทกรรมต่างๆ เหล่านี้และความหมายที่ถูกสร้างขึ้นทำงานเพื่อสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี และในยุคการเติบโตของสิทธิมนุษยชนของคนพิการ (2524-ปัจจุบัน) มีวาทกรรมใหม่ที่สำคัญคือ วาทกรรมสิทธิมนุษยชนของคนพิการ
โดยที่วาทกรรมศาสนาพุทธก็ยังคงปรากฏในยุคหลังยุคจารีตด้วย ภายใต้บริบทดังกล่าว เรื่องเล่าสมัยใหม่ของไทย เข้ามามีส่วนร่วมในปฏิสัมพันธ์ทางวาทกรรมข้างต้น ทั้งในแง่ของการผลิตซ้ำและเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของวาทกรรมต่างๆ นวนิยายไทยที่นำเสนอเรื่องความพิการแบ่งได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่ นวนิยายแนวเวทนานิยม-สังคมสงเคราะห์ (2476-ต้นทศวรรษที่ 2500) ซึ่งเน้นการกำจัดความพิการ นวนิยายยุคการฟื้นฟูสมรรถภาพ (ทศวรรษ 2520-2530) ซึ่งเน้นการฟื้นฟูคนพิการเข้าสู่ระบบทุนนิยม และนวนิยายยุคพหุวัฒนธรรม (ทศวรรษ 2540) ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงบางประการที่แสดงถึงการยอมรับความแตกต่างของคนพิการมากขึ้น ส่วนในเรื่องเล่าชีวิตที่ศึกษา ซึ่งตีพิมพ์ระหว่างปี 2518 ถึง 2546 พบว่ามีการเขียนเรื่องอยู่ภายใต้กรอบใหญ่ของวาทกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยใช้โวหารการเอาชนะอุปสรรคและการทดแทนทางจิตวิญญาณแต่ก็มีการมองความพิการด้วยกระบวนทัศน์เชิงการสร้างทางสังคมด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากนวนิยายที่ศึกษา โน้ต Typescript (photocopy)