Abstract:
เพลงมอญ เป็นเพลงประเภทหนึ่งที่มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งได้รับการสืบทอดมาแต่โบราณ ในปัจจุบันนี้เพลงมอญสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เพลงมอญโบราณและเพลงมอญประพันธ์ขึ้นใหม่ ซึ่งได้มีวิวัฒนาการจนถึงทุกวันนี้ งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งศึกษาเรื่อง ระเบียบวิธีการบรรเลงเพลงพระฉันมอญ ซึ่งได้ศึกษาประวัติความเป็นมาของ บ้านดนตรีเสนาะกับบ้านนายชื่น หริมพานิช ตลอดจนวิเคราะห์อัตลักษณ์ของเพลงพระฉันมอญและรวมไปถึงการศึกษาเปรียบเทียบระเบียบวิธีการบรรเลงต่างๆ ของเพลงพระฉัน มอญ ทางปทุมธานี กับ ทางปากลัด ผลการวิจัยพบว่า บ้านดนตรีเสนะเป็นสำนักปี่พาทย์มอญที่ได้รับถ่ายทอดเพลงมอญมาจากบรรพบุรุษชาวมอญ ส่วนบ้านนายชื่น หริมพานิช ได้รับการถ่ายทอดเพลงมอญจากบูรพาจารย์ที่มีเชื้อสายชาวมอญ พบว่าไม่มีความแตกต่างในนัยสำคัญ อัตลักษณ์เพลงพระฉันมอญ ทั้ง 2 ทาง มีการใช้บันไดเสียง 4 ทาง คือ ทางเพียงออบน ทางเพียงออล่าง ทางนอกและทางชวา ส่วนลักษณะทำนองมีการบรรเลงซ้ำทำนองเพลงในท่อนเพลงและในระหว่างเพลง การเปรียบเทียบระเบียบวิธีการบรรเลงพระฉันมอญ พบว่ามี 2 ลักษณะ คือลักษณะที่เหมือนกัน ได้แก่ ความหมายของเพลง โอกาสที่ใช้ ลูกตกเสียงในวรรคเพลง ส่วนลักษณะที่แตกต่างกัน คือ จำนวนเพลงที่ใช้ เพลงที่ใช้บรรเลง ลักษณะการดำเนินทำนองเพลงทางปทุมธานีมีลักษณะการตีเก็บทำนองเพลงมากกว่าทางปากลัด ซึ่งมีลักษณะการตีทำนองเพลงห่างๆ