Abstract:
ศึกษาอิทธิพลทางพันธุกรรมของแม่และอิทธิพลของไซโตพลาสซึ่มจากบันทึกข้อมูลลักษณะปริมาณ เปอร์เซ็นต์ไขน้ำนม และ เปอร์เซ็นต์โปรตีนในน้ำนมในระยะการให้นมครั้งแรกของโคนมลูกผสม 3 พันธุ์ คือ พันธุ์โฮลสไตน์ฟรีเชี่ยน พันธุ์บราวน์สวิส และ พันธุ์เจอร์ซี่ จำนวน 18 กลุ่มพันธุ์ ซึ่งบันทึกข้อมูลระหว่างปี พ.ศ. 2529 ถึง ปี พ.ศ. 2543 รวมข้อมูลแม่โคนมที่ให้ผลผลิตจำนวน 596 ตัว มีกลุ่มของอิทธิพลทางไซโตพลาสซึ่มที่ย้อนพันธุ์ประวัติทางสายแม่กลับไปยังบรรพบุรุษเริ่มต้นเพศเมียจำนวน 131 กลุ่ม ทำการเปรียบเทียบภายในกลุ่มของโมเดลเดียวกันในทุกลักษณะที่ศึกษาพบว่าค่าประมาณขององค์ประกอบความแปรปรวนและค่าพารามิเตอร์ทางพันธุศาสตร์ที่ได้จากการกำหนดค่าความแปรปรวนร่วมระหว่างอิทธิพลโดยตรงเนื่องจากตัวสัตว์และอิทธิพลทางพันธุกรรมของแม่มีค่าไม่แตกต่างจากศูนย์ (โมเดล [2] และ [20] ; [4F] ; [4R] และ [40R]) และการกำหนดให้อิทธิพลของไซโตพลาสซึ่มเป็นปัจจัยคงที่จะมีความเหมาะสมมากกว่าเมื่อกำหนดให้เป็นปัจจัยสุ่ม (โมเดล [3F] และ [3R] ; [4F] และ [4R] ; [40F] และ [40R]) การเปรียบเทียบระหว่างโมเดลเมื่อไม่ได้คำนึงถึงอิทธิพลทางพันธุกรรมของแม่ในลักษณะประมาณน้ำนมจะทำให้ค่าประมาณองค์ประกอบของความแปรปรวนและค่าพารามิเตอร์ทางพันธุศาสตร์ที่ได้มีค่าสูงขึ้น แต่ไม่มีความแตกต่างของค่าประมาณดังกล่าวในลักษณะเปอร์เซ็นต์ไขมันและโปรตีนในน้ำนม ค่าประมาณองค์ประกอบของความแปรปรวนและค่าพารามิเตอร์ทางพันธุศาสตร์ที่ได้ในลักษณะปริมาณน้ำนมและเปอร์เซ็นต์ไขมันนมมีค่าสูงขึ้นเมื่อไม่มีอิทธิพลของไซไตพลาสซึ่ม แต่ไม่มีความแตกต่างกันในลักษณะเปอร์เซ็นต์โปรตีน ข้อสรุปจากการศึกษาครั้งนี้คือ อิทธิพลทางพันธุกรรมของแม่มีความสำคัญต่อการประมาณค่าองค์ประกอบของความแปรปรวนและค่าพารามิเตอร์ทางพันธุศาสตร์ในลักษณะปริมาณน้ำนมเท่านั้น ส่วนอิทธิพลของไซโตพลาสซึ่มจะมีความสำคัญต่อลักษณะปริมาณน้ำนมและเปอร์เซ็นต์ไขมันนม ทั้งนี้การใช้โมเดลที่แตกต่างกันจะมีผลต่อการจัดลำดับค่าการผสมพันธุ์ในแม่พันธุ์มากกว่าในพ่อพันธุ์โคนม