Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนามาตรวัดกรอบความคิดสากล (global mindset) ซึ่งหมายถึงคุณลักษณะของผู้ที่มีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จในการปฏิบัติหน้าที่ในต่างแดน ผู้วิจัยออกแบบและพัฒนาข้อคำถามในมาตรวัดขึ้นมาใหม่ด้วยตนเองทั้งหมด โดยอ้างอิงจากวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับกรอบความคิดสากล การพัฒนามาตรวัดแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกเป็นการสร้างข้อคำถามและทดสอบองค์ประกอบและความเที่ยง โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 79 คน จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจ ได้ข้อคำถามที่มีคุณภาพจำนวน 40 ข้อ โดยแบ่งองค์ประกอบเป็น 3 มิติใหญ่ 9 องค์ประกอบย่อย ได้แก่ 1.มิติด้านความรู้ มีองค์ประกอบย่อยคือ ความเข้าใจในธุรกิจ การบริหารความแตกต่างและการสร้างเครือข่ายธุรกิจระดับสากล 2.มิติด้านคุณลักษณะ มีองค์ประกอบย่อยคือ การเปิดรับวัฒนธรรมอื่น ความยินดีต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ การเข้าใจวัฒนธรรมอื่นและความใฝ่รู้ในวัฒนธรรมอื่น และ 3.มิติด้านจิตวิทยา มีองค์ประกอบย่อยคือ ความมั่นใจในตนเองและความสามารถในการฟื้นพลัง ช่วงที่สองเป็นการทดสอบความตรงของมาตรวัดด้วยการทดสอบกับกลุ่มที่รู้ลักษณะอยู่แล้ว (known-group validity) โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่มที่มีหลักฐานว่าน่าจะมีกรอบความคิดสากลแตกต่างกันอย่างชัดเจน ได้แก่ กลุ่มที่ผู้วิจัยรู้ว่าจะมีลักษณะกรอบความคิดสากลต่ำ คือ ข้าราชการในองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และกลุ่มที่ผู้วิจัยรู้ว่าจะมีลักษณะกรอบความคิดสากลสูง คือพนักงานบริษัทเอกชนที่เป็นสากลซึ่งประจำอยู่สาขาต่างประเทศ จำนวนกลุ่มละ 12 คน ผลการทดสอบความตรงพบว่า คะแนนของกลุ่มตัวอย่างที่ผู้วิจัยรู้ว่าจะมีลักษณะกรอบความคิดสากลสูง มีค่ามากกว่าคะแนนของกลุ่มตัวอย่างที่ผู้วิจัยรู้ว่าจะมีลักษณะกรอบความคิดสากลต่ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในทุกมิติ
Description:
โครงงานทางจิตวิทยานี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2559
A senior project submitted in partial fulfillment of the requirements for the Degree of Bachelor of Science in Psychology, Faculty of Psychology, Chulalongkorn University, Academic year 2016