Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพความสัมพันธ์แบบโรแมนติกและแรงจูงใจในการเรียน โดยมีการสนับสนุนของคู่รักเป็นตัวแปรส่งผ่าน กลุ่มตัวอย่างซึ่งได้มาจากการเลือกตามสะดวก (Convenience Sampling) และใช้วิธีการบอกต่อผ่านทาง Facebook (Snowball Sampling) เป็นนิสิตปริญญาตรี จำนวน 276 คน อายุ 18-23 ปี ที่กำลังมีความสัมพันธ์เชิงคู่รักแบบชาย-หญิง มีระยะเวลาในความสัมพันธ์ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป กลุ่มตัวอย่างตอบแบบสอบถามออนไลน์จำนวน 73 ข้อ เพื่อวัดคุณภาพความสัมพันธ์แบบโรแมนติก แรงจูงใจในการเรียนสามรูปแบบ และการสนับสนุนของคู่รักสามรูปแบบ ผลการวิเคราะห์เส้นทาง (Path Analysis) พบว่า คุณภาพความสัมพันธ์แบบโรแมนติกไม่มีอิทธิพลทางตรงต่อแรงจูงใจในการเรียนทั้งสามรูปแบบ แต่ส่งอิทธิพลทางตรงต่อการสนับสนุนของคู่รักที่เป็นตัวแปรส่งผ่าน โดยมีอิทธิพลทางตรงทางบวกต่อการสนับสนุนแบบแสดงความห่วงใย (β = .512; p < .001) และการสนับสนุนแบบส่งเสริมการกระทำ (β = .509; p < .001) และส่งอิทธิพลทางตรงทางลบต่อการสนับสนุนทางลบ (β = -.153; p < .001) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ตัวแปรส่งผ่านเหล่านี้มีอิทธิพลทางตรงต่อแรงจูงใจในการเรียนบางรูปแบบ โดยพบว่า การสนับสนุนแบบแสดงความห่วงใย (β = .197; p = .021) และการสนับสนุนทางลบ (β = .171; p = .004) ส่งอิทธิพลทางตรงทางบวกต่อแรงจูงใจภายนอกในการเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนการสนับสนุนทางลบส่งอิทธิพลทางตรงทางบวกกับการขาดแรงจูงใจในการเรียน (β = .145; p = .011) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลการวิเคราะห์อิทธิพลทางอ้อมพบว่า คุณภาพความสัมพันธ์แบบโรแมนติกส่งอิทธิพลทางอ้อมทางบวกต่อแรงจูงใจภายนอกในการเรียน โดยมีการสนับสนุนแบบแสดงความห่วงใยเป็นตัวแปรส่งผ่าน (β = .101; p = .024)
Description:
โครงงานทางจิตวิทยานี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2559
A senior project submitted in partial fulfillment of the requirements for the Degree of Bachelor of Science in Psychology, Faculty of Psychology, Chulalongkorn University, Academic year 2016