Abstract:
การสวดมนต์ทำสมาธิ คือ การฟังหรือการท่องวลีและถ้อยคำเป็นทำนอง เพื่อรวมความใส่ใจให้เกิดสมาธิ ทั้งนี้งานวิจัยจำนวนหนึ่งระบุว่า การสวดมนต์ทำสมาธิจะก่อให้เกิดความผ่อนคลายขึ้นภายในระบบประสาท โดยแสดงออกมาในลักษณะการเพิ่มขึ้นของคลื่นไฟฟ้าสมองชนิดอัลฟ่า ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการผ่อนคลายอย่างตระหนักรู้ตัวของบุคคล โดยงานวิจัยลักษณะดังกล่าวยังมีจำนวนจำกัดในบริบทสังคมไทย วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาว่าการฟังบทสวดมนตร์ทำสมาธิ เช่น บทสวดมนต์ทำสมาธิก่อนนอน ก่อให้เกิดการผ่อนคลายขึ้นในระดับสมองหรือไม่ โดยใช้เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) สมมติฐาน: บริเวณสมองส่วนหน้า (Frontal cortex) จะมีการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าสมองชนิดอัลฟ่าขณะที่นั่งฟังบทสวดมนต์ก่อนนอนที่แตกต่างไปในทิศทางที่เพิ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเทียบกับค่าพื้นฐาน (Baseline) ทั้งแบบหลับตาและแบบลืมตา วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่างคือ นิสิตระดับปริญญาตรีที่มีสุขภาพดี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 10 คน แบ่งเป็นชาย 5 คน หญิง 5 คน ที่ผ่านเกณฑ์คัดกรองที่ผู้วิจัยตั้งไว้ ทั้งนี้ในขั้นการทดลองมีนำเสนอกระบวนทัศน์ของลำดับการนำเสนอบทสวดมนตร์ทำสมาธิก่อนนอน และใช้เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองในการวัดกิจกรรมทางประสาท ผลการวิจัย: จากการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า ขณะที่ฟังการฟังบทสวดมนต์ทำสมาธิ ผู้เข้าร่วมการวิจัยมีความเปลี่ยนแปลงของคลื่นอัลฟ่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเทียบกับค่าพื้นฐานแบบลืมตา (t(9) = -2.29, p = .48) แต่ไม่พบความแต่ต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของคลื่นอัลฟ่าขณะฟังบทสวดมนต์ทำสมาธิ เมื่อเทียบกับค่าพื้นฐานการหลับตา (t(9) = 1.44, p = .48)
Description:
โครงงานทางจิตวิทยานี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2559
A senior project submitted in partial fulfillment of the requirements for the Degree of Bachelor of Science in Psychology, Faculty of Psychology, Chulalongkorn University, Academic year 2016