Abstract:
งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ความสัมพันธ์ของกิจกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของผู้สูงวัยกับสุขภาวะทางจิต เพื่อศึกษาว่ากิจกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตแต่ละประเภทกิจกรรมมีความสัมพันธ์ต่อสุขภาวะทางจิตและองค์ประกอบสุขภาวะทางจิตในแต่ละด้านของผู้สูงวัยอย่างไร ทำการวิจัยโดยการเก็บข้อมูลจากผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้น จำนวน 229 คน เครื่องมือที่ใช้ในงานวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม แบบสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการใช้งานอินเทอร์เน็ต แบบสอบถามกิจกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต และแบบสอบถามสุขภาวะทางจิต ซึ่งทางกลุ่มผู้วิจัยได้เก็บข้อมูลด้วยการใช้แบบสอบถามกระดาษ และแบบสอบถามออนไลน์ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลในงานวิจัย คือ สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน (Pearson correlation) และการถดถอยเชิงพหุคูณ (multiple regression) ผลงานวิจัยพบว่า กิจกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตมีความสัมพันธ์กับสุขภาวะทางจิตแบบจำแนกองค์ประกอบ และสุขภาวะทางจิตโดยรวมของผู้สูงวัย ดังนี้ กิจกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตในด้านการสื่อสารมีความสัมพันธ์ทางบวกกับสุขภาวะทางจิตด้านความสามารถในการจัดการกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในผู้สูงวัย (β = .227, p < .05) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 กิจกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตในด้านความบันเทิงมีความสัมพันธ์ทางลบกับสุขภาวะทางจิตด้านการมีความงอกงามในผู้สูงวัย (β = -.191, p < .05) ด้านการมีจุดมุ่งหมายในชีวิตในผู้สูงวัย (β = -.283, p < .05) และสุขภาวะทางจิตโดยรวมในผู้สูงวัย (β = -.163, p < .05) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 กิจกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตด้านการหาข้อมูลมีความสัมพันธ์ทางบวกกับสุขภาวะทางจิตด้านความเป็นตัวของตัวเองในผู้สูงวัย (β = .230, p < .05) ด้านการมีความงอกงามในตน (β = .281, p < .05) ด้านการมีจุดมุ่งหมายในชีวิตในผู้สูงวัย (β = .292, p < .05) และสุขภาวะทางจิตโดยรวมในผู้สูงวัย (β = .190 , p < .05) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 กิจกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตในด้านการทำความรู้จักกับคนใหม่ ๆ มีความสัมพันธ์ทางลบกับสุขภาวะทางจิตด้านการมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่นในผู้สูงวัย (β = -.229, p < .05) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
Description:
โครงงานทางจิตวิทยานี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2559
A senior project submitted in partial fulfillment of the requirements for the Degree of Bachelor of Science in Psychology, Faculty of Psychology, Chulalongkorn University, Academic year 2016