Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์การแปรของศัพท์และเสียงในภาษาไทยถิ่นภูเก็ตตามอายุของผู้พูดและสังเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของภาษาไทยถิ่นภูเก็ตโดยใช้ทฤษฎีการสัมผัสภาษาถิ่น โดยมีปัจจัยสำคัญในงานวิจัยคือ ภูมิลำเนาของบรรพบุรุษ ตัวแปรทางภาษาในงานวิจัย ได้แก่ ศัพท์จำนวน 36 หน่วยอรรถและเสียง 4 ตัวแปร คือ (1) พยัญชนะท้าย (ʔ) ในพยางค์ตายสระเสียงยาว (2) สระ (ei, əɨ, ou) ในพยางค์เปิด (3) วรรณยุกต์สูงขึ้นตก (454) และ (4) วรรณยุกต์สูงระดับ (44) ผู้บอกภาษาในงานวิจัยนี้เป็นคนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดภูเก็ตจำนวน 120 คน แบ่งตามภูมิลำเนาบรรพบุรุษ 4 ถิ่น ได้แก่ ภูเก็ต ภาคใต้และเป็นคนพูดภาษาไทยถิ่นใต้ตะวันออก ภาคใต้และเป็นคนพูดภาษาไทยถิ่นใต้ตะวันตก และภาคกลาง ถิ่นละ 30 คน ในแต่ละถิ่นแบ่งออกเป็น 3 รุ่นอายุ รุ่นละ 10 คน ได้แก่ รุ่นที่ 1 อายุ 60 ปีขึ้นไป รุ่นที่ 2 อายุ 35 – 45 ปี และรุ่นที่ 3 อายุ 10 – 20 ปี ทั้งนี้ ผู้บอกภาษาสามรุ่นอายุคัดเลือกจากผู้ที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน (พ่อแม่ – ลูก – หลาน) การเก็บข้อมูลใช้วิธีการสัมภาษณ์และสนทนากับผู้บอกภาษาแบบไม่เป็นทางการในหัวข้อที่เกี่ยวกับเรื่องราวในชีวิตประจำวัน ในการวิเคราะห์ข้อมูล คัดเลือกคำ 20 คำแรกที่มีตัวแปรทางภาษาปรากฏอยู่มาใช้ จากนั้น แจงนับและคำนวณค่าทางสถิติ ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ภาษาไทยถิ่นภูเก็ตในปัจจุบันมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่ลู่เข้าหาภาษาไทยมาตรฐาน โดยที่ตัวแปรศัพท์เปลี่ยนแปลงเร็วกว่าตัวแปรเสียง ที่สำคัญพบว่า มีตัวแปรเสียงพยัญชนะท้าย (ʔ) ในพยางค์ตายสระเสียงยาวที่ไม่เป็นจริงตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ คือ ผู้พูดอายุมากและอายุน้อยใช้รูปแปรภาษาไทยถิ่นภูเก็ตและรูปแปรภาษาไทยมาตรฐานใกล้เคียงกัน อีกทั้งยังพบรูปแปรสระที่ไม่ได้เป็นรูปแปรดั้งเดิมของภาษาถิ่นใด คือ [i i̯ , ɨ ɨ̯ , uu̯] ซึ่งเป็นรูปภาษาถิ่นในระหว่าง (interdialect form)