Abstract:
งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทการเป็นตัวแปรส่งผ่านของการรับรู้ความสามารถในการเป็นบิดามารดา ในความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ของบิดามารดาในพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของบุตรออทิสติกกับปัญหาทางจิตใจของบิดามารดา โดยผู้เข้าร่วมการวิจัยคือ บิดาและมารดา จำนวน 119 คน (มารดา 83.2%) ที่มีบุตรเป็นออทิสติกอายุระหว่าง 3-12 ปี (อายุเฉลี่ย 7.08 ปี, เพศชาย 81.5%) และเป็นผู้ดูแลหลัก เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ 1) มาตรวัดปัญหาทางจิตใจของบิดามารดา (ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล และความเครียด) 2) มาตรวัดการรับรู้ของบิดามารดาในพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของบุตรออทิสติก และ 3) มาตรวัดการรับรู้ความสามารถในการเป็นบิดามารดา ผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม SPSS และ PROCESS ในการวิเคราะห์สหสัมพันธ์และการวิเคราะห์ตัวแปรส่งผ่านอย่างง่าย (Simple Mediation Analysis) โดยผลการวิจัยพบว่า การรับรู้ความสามารถในการเป็นบิดามารดาเป็นตัวแปรส่งผ่าน ระหว่างความสัมพันธ์ของการรับรู้ของบิดามารดาในพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของบุตรออทิสติกกับปัญหาทางจิตใจของบิดามารดา (b = 0.13, 95% Cl [0.002, 0.388]) นักจิตวิทยาและบุคลากรด้านการศึกษาพิเศษหรือสุขภาพจิตสามารถนำองค์ความรู้จากผลการวิจัยไปประยุกต์ใช้ในการสร้างโปรแกรมให้ความช่วยเหลือแก่บิดามารดาที่มีบุตรออทิสติก โดยมุ่งเน้นไปที่การรับรู้ความสามารถในการเป็นบิดามารดาเพื่อป้องกันและลดแนวโน้มในการเกิดปัญหาทางจิตใจ