Abstract:
ปัจจุบันความนิยมการใช้งานเว็บไซต์สังคมออนไลน์สูงขึ้น (เช่น เฟซบุ๊ก) ส่งผลให้รูปแบบการสื่อสารแบบปากต่อปาก (WOM) เกิดความเปลี่ยนแปลง เกิดการสื่อสารแบบปากต่อปากบนอินเทอร์เน็ตรูปแบบใหม่ (eWOM) ที่เพิ่มมิติด้านความสัมพันธ์ของผู้รับสารและผู้ส่งสาร จุดประสงค์ของการศึกษานี้เพื่อที่จะศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการรับรู้ความน่าเชื่อถือของ eWOM บนเว็บไซต์สังคมออนไลน์และการนำข้อมูลจาก eWOM ไปใช้ แบบจำลองการชักจูงสองทางถูกใช้ในการวิเคราะห์ความโน้มน้าวของสาร การศึกษานี้เลือกเฟซบุ๊กเป็นตัวแทนเว็บไซต์สังคมออนไลน์ การเก็บข้อมูลทำโดยใช้แบบสอบถามออนไลน์และออฟไลน์ตามสัดส่วนสถิติประชากรศาสตร์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กในประเทศไทย จากนั้นจึงใช้การวิเคราะห์เส้นทางโดยใช้โปรแกรม SPSS และ SMARTPLS 3.0 ตามลำดับ ผลการศึกษาพบว่าตัวแปรที่ส่งผลต่อการรับรู้ความน่าเชื่อถือสูงสุดคือความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล ถัดมาคือคะแนนของบทวิจารณ์ ความแข็งแรงของข้อมูล และความสอดคล้องของบทวิจารณ์ ตามลำดับ ผลการศึกษายังช่วยยืนยันการศึกษาในอดีตว่า หากผู้บริโภครับรู้ว่าบทวิจารณ์มีความน่าเชื่อถือก็มีแนวโน้มที่จะนำข้อมูลไปใช้ สุดท้าย Post Hoc Analysis พบว่าระดับความเกี่ยวพันมีส่วนในการควบคุมผลของความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรบางตัว (ทั้งสองประเภท) ต่อการรับรู้ความน่าเชื่อถือของการสื่อสารแบบปากต่อปากบนอินเทอร์เน็ต