Abstract:
ปัจจุบันตลาดการขายสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์สำเร็จรูปในประเทศไทยมีวิกฤตการณ์อัตราความหนาแน่นสูงเมื่อเทียบจากจำนวนพื้นที่การขายสินค้ากับจำนวนผู้ประกอบการที่เพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ประกอบการจากตราสินค้าแฟชั่นที่เกิดขึ้นใหม่ งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างช่องทางการเปิดพื้นที่การขายใหม่ในตลาดมินิบาร์ และแนวทางการออกแบบสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ของตลาดมินิบาร์ในประเทศไทย ด้วยการศึกษาระบบต้นแบบการขายสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ในตลาดมินิบาร์จากตราสินค้า PIMKIE ประเทศฝรั่งเศส และแนวคิดอัตลักษณ์ไทยของแต่ละภูมิภาคในด้าน สถาปัตยกรรม จิตรกรรม และหัตถกรรม จากข้อมูลปฐมภูมิและทุติยภูมิ รวมถึงการศึกษา วิเคราะห์ ปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ การขายสินค้าในกลุ่มโรงแรมบูติค การตลาดสินค้าแฟชั่น แนวโน้มแฟชั่น และ ตัวอย่างผลงานออกแบบสินค้าแฟชั่นจากตราสินค้าคู่แข่งในประเทศไทย ผู้วิจัยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการสำรวจพื้นที่การขายโดยการเฝ้าสังเกตการณ์และการจดบันทึก การสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ประกอบการโรงแรมบูติค ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารสินค้าในโรงแรม ผู้เชี่ยวชาญในสาขาการตลาดสินค้าแฟชั่น และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบสินค้าแฟชั่น ร่วมกับการวิจัยเชิงปริมาณโดยการใช้แบบสอบถามกับกลุ่มผู้บริโภคเพื่อตามหากลุ่มเป้าหมายและลักษณะความพึงพอใจของกลุ่มสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ในงานวิจัย จากผลการศึกษาพบว่า กลุ่มผู้บริโภคที่สนใจการซื้อสินค้าแฟชั่นในตลาดมินิบาร์ คือกลุ่มสตรีวัยทำงานเพศหญิงอายุระหว่าง 36-42 ปี มีรสนิยมแบบเรียบโก้ มีความสนใจกลุ่มสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ในระบบมินิบาร์ที่มีราคาระหว่าง 1000 – 5000 บาท ด้านอัตลักษณ์ของระบบการขายสินค้า มีลักษณะสำคัญคือการแบ่งกลุ่มสินค้าพื้นฐาน (Basic’s wear) และกลุ่มสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่น (Signature’s wear) ตามโอกาสการใช้งานของสินค้าชนิดลำลองตามกลุ่มประเภทโรงแรมบูติคที่อยู่ในสถานที่ตั้งที่แตกต่างกัน โดยกลุ่มโรงแรมบูติคที่จัดตั้งในเขตพื้นที่เมืองหลวงหรือกรุงเทพมหานครจะมีลักษณะของกลุ่มสินค้าชนิดสังสรรค์แบบลำลอง (Casual Party’s wear) กลุ่มโรงแรมบูติคในจังหวัดของหัวเมืองภูมิภาคจะมีลักษณะกลุ่มสินค้าชนิดทำงานแบบลำลอง (Casual Business’s wear) และกลุ่มโรงแรมบูติคใกล้แหล่งท่องเที่ยวจะมีลักษณะกลุ่มสินค้าแบบรีสอร์ท (Resort’s wear) ด้านการออกแบบกลุ่มสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ในระบบมินิบาร์ มีลักษณะที่สำคัญคือรูปแบบที่เหมาะสมต่อการจัดเก็บสินค้าเพื่อการเดินทางและรูปแบบที่สามารถนำไปผสมผสานให้เกิดรูปแบบการสวมใส่เฉพาะบุคคล โดยลักษณะดังกล่าวจะอยู่ในองค์ประกอบของ โครงร่างเงา (Silhouettes) รายละเอียดจำเพาะ (Technic details) สี (Colors) และ วัสดุภัณฑ์ (Materials) ที่แตกต่างกันตามอัตลักษณ์พื้นถิ่นของภูมิภาคประเทศไทย และเพื่อให้ได้รูปแบบของกลุ่มสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด ผู้วิจัยอาศัยเทคนิคการวิจัยเชิงอนาคต EDFR (Ethnographic Delphi Futures Research) ด้วยการตัดสินด้านรูปแบบภาพลักษณ์ของกลุ่มสินค้าอีกครั้งจากคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อพัฒนาเป็นคอลเล็คชั่นของกลุ่มสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ในตลาดมินิบาร์ประเทศไทยเป็นขั้นตอนสุดท้าย