Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาตัวชี้สำคัญสำหรับการประเมินผลการปฏิบัติการสอนของนิสิตฝึกสอนคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ข้อมูลทั้งหมดจะเป็นข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากแบบประเมินผลการฝึกสอนในสองรุ่นปีการศึกษา พ.ศ. 2537 และ พ.ศ. 2538) ซึ่งประเมินโดยอาจารย์นิเทศก์ฝ่ายคณะครุศาสตร์และอาจารย์นิเทศฝ่ายโรงเรียน มีข้อมูลที่สมบูรณ์จำนวน 119 ชุดในปี พ.ศ. 2537 และ 295 ชุด ในปีพ.ศ. 2538ถูกนำมาวิเคราะห์ค่าสถิติ การทดสอบค่าที (t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวน (ANOVA) และทดสอบภายหลังโดยวิธีของเชฟเฟ่ (Scheffe's method) สหสัมพันธ์ถดถอยพหุคูณ (Multiple Regression Correlation) และ Path Analysis ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างคะแนนการปฏิบัติการสอนของนิสิตฝึกสอนที่ประเมินโดยอาจารย์นิเทศฝ่ายคณะครุศาสตร์กับอาจารย์นิเทศฝ่ายโรงเรียนใน 2 ด้านใหญ่ ๆ คือ ก) การพัฒนาการสอน และ/หรือการปฏิบัติงาน และ ข) การสอบสอน 2. ผลการเปรียบเทียบการพัฒนาพฤติกรรมการสอนและการพัฒนาพฤติกรรมทั่วไปของนิสิตฝึกสอนที่ซึ่งประเมินผลโดยอาจารย์นิเทศฝ่ายคณะครุศาสตร์กับอาจารย์นิเทศฝ่ายโรงเรียน สรุปรายข้อที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 เป็นดังนี้คือ 2.1 ด้านการพัฒนาการปฏิบัติการสอนพบว่ามี 3 รายข้อที่อาจารย์นิเทศฝ่ายโรงเรียนให้คะแนนสูงกว่าอาจารย์นิเทศฝ่ายคณะครุศาสตร์ คือ ก) การเตรียมการสอน ข) การดำเนินการสอน และ ค) การประเมินผลการสอน 2.2 ด้านการพัฒนาพฤติกรรมทั่วไปพบว่ามี 2 รายข้อ ที่อาจารย์นิเทศฝ่ายคณะครุศาสตร์ให้คะแนนสูงกว่าอาจารย์นิเทศก์ฝ่ายโรงเรียนคือ ก) ความเชื่อมั่นในตนเองของนิสิตฝึกสอน และ ข) ความสามารถในการแก้ปัญหาของนิสิตฝึกสอน 3. ตามการรับรู้ของอาจารย์นิเทศก์ฝ่ายคณะและอาจารย์นิเทศฝ่ายโรงเรียนพบว่า นิสิตฝึกสอนมีความก้าวหน้าทางด้านพฤติกรรมทั่วไปสูงกว่าครั้งแรกที่เริ่มต้นฝึกสอน 4. ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอิสระ 23 ตัวแปรกับตัวแปรตามได้ข้อค้นพบดังนี้ 4.1ตัวแปรอิสระสองตัวแปรคือ การดำเนินการสอน กับท่วงทีวาจา มีอิทธิพลต่อการพัฒนาการปฏิบัติการสอนของนิสิตฝึกสอนอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 โดยสามารถอธิบายความแปรปรวนได้ร้อยละ 50.90 สำหรับตัวแปรการดำเนินการสอนเป็นตัวชี้สำคัญที่สุดที่สามารถอธิบายความแปรปรวนต่อตัวแปรตามได้ร้อยละ 45.85 และมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 4.2 ตัวแปรอิสระสามตัวแปรคือ ความตั้งใจในการปฏิบัติงานครู ความเป็นผู้นำ และความสามารถในการปรับตัวเข้ากับครูในโรงเรียน มีอิทธิพลต่อการพัฒนาพฤติกรรมทั่วไปของนิสิตฝึกสอนอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 และสามารถอธิบายความแปรปรวนได้ร้อยละ 73.52 สำหรับตัวแปร ความตั้งใจในการปฏิบัติงานครู เป็นตัวชี้สำคัญที่สุดที่สามารถอธิบายความแปรปรวนต่อตัวแปรตามได้ร้อยละ 61.83 และมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 4.3 ตัวแปรอิสระสองตัวแปรคือ การดำเนินการสอนและการควบคุมอารมณ์มีอิทธิพลต่อการสอบสอนของนิสิตฝึกสอนอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 โดยสามารถอธิบายความแปรปรวนได้ร้อยละ 55.64 สำหรับตัวแปร การดำเนินการสอน เป็นตัวชี้สำคัญที่สุดที่สามารถอธิบายความแปรปรวนต่อตัวแปรตามได้ร้อยละ 47.38 และมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 5. ผลการวิเคราะห์ทางเดิน (Path Analysis) โดยใช้ตัวแปรคัดสรรจำนวน 5 ตัวแปร คือ 1) ความสามารถในการปรับตัวเข้ากับครูในโรงเรียน 2) ความตั้งใจในการปฏิบัติงานครู 3) บุคลิกภาพ (ท่วงทีวาจา ความเป็นผู้นำ และการควบคุมอารมณ์) 4) ความสำเร็จทางการสอน และ 5)ทัศนคติต่อการปฏิบัติงานครู สรุปได้ดังนี้ 5.1 ความสามารถในการปรับตัวเข้ากับครูในโรงเรียน และความตั้งใจในการปฏิบัติงานครูของนิสิตฝึกสอนมีผลทางตรงต่อการพัฒนาบุคลิกภาพของนิสิตฝึกสอน (อธิบายความแปรปรวนได้ร้อยละ 59.12 และมีนัยสำคัญที่ระดับ .05) 5.2 ความสามารถในการปรับตัวเข้ากับครูในโรงเรียนของนิสิตฝึกสอน มีอิทธิพลโดยตรงต่อการดำเนินการสอนของนิสิตฝึกสอน (อธิบายความแปรปรวนได้ร้อยละ 42.34 และมีนัยสำคัญที่ระดับ .05) 5.3 นิสิตฝึกสอนที่มีทัศนคติที่ดีต่อการปฏิบัติงานครูจะได้รับผลโดยตรงมาจากความตั้งใจในการปฏิบัติงานครูการมีบุคลิกภาพที่ดี และการได้รับคะแนนการฝึกสอนสูง (อธิบายความแปรปรวนได้ร้อยละ 76.32 และมีนัยสำคัญที่ระดับ .05)