Abstract:
งานวิจัยเรื่องดนตรีสำหรับการแสดงหนังตะลุงของคณะครูบุญส่ง ไกรเดช จังหวัดระยอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามูลบทที่เกี่ยวข้องกับดนตรีสำหรับการแสดงหนังตะลุงในจังหวัดระยอง ศึกษาประวัติและผลงานของนายหนังตะลุง คณะครูบุญส่ง ไกรเดช และวิเคราะห์ดนตรีสำหรับการแสดงหนังตะลุง คณะหนังตะลุงของครูบุญส่ง ไกรเดช พบว่าได้รับอิทธิพลมาจากการแสดงหนังตะลุงแถบภาคใต้ เริ่มก่อตั้งคณะตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2525 ได้รับการสืบทอดจากครูหริ่ง ศิริคำ ผลงานที่โดดเด่น คือได้รับรางวัลเกียรติคุณเป็นศิลปินดีเด่นจังหวัดระยอง ประจำปีพุทธศักราช 2555 จากการวิเคราะห์ทำนองการขับประกาศหน้าบท พบการสร้างสรรค์เครื่องดนตรีด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงในยุคของโลกาภิวัตน์ จึงทำให้เครื่องดนตรีบางชิ้นไม่ได้ถูกนำมาประสมวงด้วยคือ ปี่ หากแต่ว่าเพิ่มเครื่องดนตรีกำกับจังหวะคือ กลองบองโก้ เพื่อทำให้เกิดความชื่นชอบของผู้ชมในการว่าจ้าง มิได้ประสมขึ้นเพื่อทำลายแบบแผนโบราณแต่อย่างใด เครื่องดนตรีประกอบการแสดงหนังตะลุงของคณะครูบุญส่ง ไกรเดช มีการประสมวงคล้ายกับวงปี่พาทย์ชาตรีที่ใช้แสดงประกอบการแสดงโนราห์และหนังตะลงุทางภาคใต้ ซึ่งมีวิวัฒนาการแพร่กระจายวัฒนธรรมเข้ามาสู่จังหวัดระยอง ได้แก่ หนังสด (โขนสด) และละครเท่งกรุ๊ก ที่ใช้วงดนตรีดังกล่าวประสมอยู่ด้วย เครื่องดนตรีสำหรับการแสดงหนังตะลุงประกอบไปด้วย กลองตุ๊ก 1 คู่ โทน 2 ใบ โหน่งเหน่ง 1 ราง ฉิ่ง 1 คู่ ฉาบ 1 คู่ กรับ 1 คู่ และกลองบองโก้ 1 ชุด บทเพลงในขั้นตอนการโหมโรงปรากฏกระสวนจังหวะหน้าทับ 8 จังหวะ และพบกระสวนจังหวะ การบรรเลงหน้าทับประกอบอากัปกริยาของตัวหนังมีทั้งหมด 6 จังหวะได้แก่ ตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์ ตัวตลก รัว และเชิด นายหนังยังใช้การขับบทเพลงประเภทเพลงลูกทุ่ง เพลงแหล่และเพลงฉ่อย ทำนองการขับประกาศหน้าบทมีการผันเสียงร้องในกลุ่มคำที่ใช้สำเนียงภาษาถิ่นระยองสอดแทรกอยู่ โดยพบว่ากำหนดทำนองร้องให้ตรงกับเสียงซอล ลา ที โด เร ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ระดับเสียงทางใน การใช้ระดับเสียงนอกกลุ่มเสียงพบเป็นส่วนน้อย ลักษณะเด่นของคณะคือนายหนังประพันธ์บทประกาศหน้าบทขึ้นเอง และเป็นผู้ที่ต้องอาศัยความสามารถพิเศษ ความชำนาญและความแข็งแรงของของเสียง รวมทั้งมีความสามารถพิเศษในการร้องและพากย์เสียงโดยไม่มีเครื่องดนตรีดำเนินทำนองแม้แต่ชิ้นเดียว ตั้งแต่เริ่มจนกระทั่งจบการแสดง