Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีความมุ่งหมายที่จะศึกษาการนำเสนอแนวคิดกุลสตรีในนวนิยายของนักเขียนสตรีเขมรที่แต่งขึ้นช่วงหลัง ค.ศ. 1979-2003 และบริบททางการเมือง สังคมและวัฒนธรรมที่มีผลต่อการนำเสนอแนวคิดกุลสตรีในนวนิยาย การศึกษาแสดงให้เห็นว่านวนิยายของนักเขียนสตรีเขมรทั้งสองคือ เมา สำณาง และปัล วัณณารีรักษ์ต่างนำเสนอแนวคิดกุลสตรีในฐานะระบบเกียรติยศและชื่อเสียงหน้าตาของสตรีเขมร แต่แนวคิดกุลสตรีในนวนิยายของเมา สำณาง เป็นแนวคิดกุลสตรีแนวขนบนิยม ส่วนแนวคิดกุลสตรีในนวนิยายของปัล วัณณารีรักษ์เป็นแนวคิดกุลสตรีแนวขนบนิยมผสมผสานกับภาระหน้าที่ที่สังคมเรียกร้องให้สตรีปฏิบัติ บริบททางการเมืองสังคมและวัฒนธรรมมีผลต่อการนำเสนอแนวคิดกุลสตรีในนวนิยาย ภาวะขาดแคลนนวนิยายหลังสมัยเขมรแดงเปิดโอกาสให้เมา สำณางเริ่มต้นอาชีพนักเขียนและสร้างนวนิยายแนวพาฝันตอบสนองความต้องการของผู้อ่านที่ต้องการสิ่งปลอบประโลมจิตใจ ในขณะที่ปัล วัณณารีรักษ์เขียนนวนิยายเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้รัฐและเขียนตามความต้องการของกระแสสังคม เมา สำณางสนับสนุนแนวคิดกุลสตรีแนวขนบนิยมด้วยเหตุผลสองประการคือ กุลสตรีแนวขนบนิยมคืออัตลักษณ์ทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมของชาวเขมร และการปฏิบัติตนตามแนวคิดกุลสตรีแนวขนบนิยมคือการปฏิบัติธรรมะที่จะส่งผลดีต่อการดำเนินชีวิตและการแก้ไขปัญหาของสตรี ส่วนปัล วัณณารีรักษ์พยายามต่อรองกับแนวคิดกุลสตรีแนวขนบนิยมบางด้านเช่นต่อรองกับค่านิยมรังเกียจและกีดกันสตรีม่าย และค่านิยมการตัดสินคุณค่าสตรีที่พรหมจารี ขณะเดียวกัน ปัล วัณณารีรักษ์พยายามชี้ว่าการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สตรีเขมรสามารถต่อรองกับสังคมที่ควบคุมเธอด้วยแนวคิดกุลสตรีแนวขนบนิยมได้