Abstract:
การวิจัยเรื่อง การใช้หลักการจูงใจในภาพถ่ายสำหรับมูลนิธิเพื่อเด็ก เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) มีวัตถุประสงค์ เพื่อหาจุดจับใจ (Appeal) ในภาพถ่าย การจัดองค์ประกอบภาพถ่าย (Photographic Composition) การเลือกใช้จดหมายตรง (Direct Mail) และวิธีการจัดหน้า (Layout) ในงานสิ่งพิมพ์ เพื่อกำหนดแนวทางการออกแบบ โดยจำแนกตามสถานการณ์ปัญหาเด็กด้านต่างๆ ดำเนินการวิจัยโดยการศึกษาแนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของการใช้หลักการจูงใจในภาพถ่าย จากนั้นทำการคัดเลือกตัวอย่างผลงานภาพถ่ายที่เป็นภาพโฆษณา และภาพสารคดี ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาด้านเด็ก ตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 ถึง ค.ศ.2007 จาก 8 แหล่งข้อมูล ได้แก่ การประกวดสิ่งพิมพ์โฆษณาของ British Design & Art Direction (D&AD) การประกวดสิ่งพิมพ์โฆษณาของ Europe’s Premier Creative Awards (EPICA Awards) การประกวดสิ่งพิมพ์โฆษณาของ New York Festival International Advertising Awards การประกวดสิ่งพิมพ์โฆษณาของสถาบัน Luerzer’s Int’l Archive การประกวดภาพถ่ายของ World Press Photo Contest การประกวดภาพถ่ายของ International Photography Awards การประกวดภาพถ่ายของ Photography Master Cup และการประกวดภาพถ่ายของ Black and White Spider Awards รวมทั้งสิ้น 220 ภาพ นำไปสร้างเป็นแบบสอบถามส่งให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างสรรค์ภาพและการออกแบบ ทำการวิเคราะห์แนวคิดจากภาพถ่าย จากนั้นนำข้อมูลที่ได้กลับมาทำการวิเคราะห์และสรุปผล โดยแสดงในรูปจำนวนของร้อยละ และจัดเรียงตามลำดับคะแนนสูงต่ำ การออกแบบสิ่งพิมพ์สำหรับมูลนิธิเพื่อเด็ก แบ่งตามสถานการณ์ปัญหาเด็ก 4 ด้าน ดังนี้ ปัญหาด้านการปกป้องคุ้มครอง จำแนกตามสภาพปัญหาได้แก่ เด็กกำพร้า เด็กถูกทอดทิ้ง เด็กถูกทำร้ายทารุณ เด็กที่ถูกล่วงเกินทางเพศ เด็กกับสารเสพติด เด็กเร่ร่อน เด็กถูกค้า เด็กพิการ แรงงานเด็ก เด็กในกระบวนการยุติธรรม เด็กพลัดถิ่น เด็กชาวเขา เด็กในชุมชนแออัด เด็กไร้สัญชาติ เด็กลูกแรงงานก่อสร้าง เด็กที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติหรือสารพิษอันตราย เด็กยากจน และเด็กถูกละเมิดและกระทำความรุนแรงโดยสื่อ ปัญหาด้านการส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิต พบว่าเด็กมีปัญหาภาวะขาดสารไอโอดีน ทารกมีน้ำหนักน้อย มีภาวะเตี้ย มีปัญหาด้านคุณภาพน้ำบริโภคไม่ได้มาตรฐาน พ่อแม่ ขาดความรู้และทักษะในการเลี้ยงดูบุตร ทำให้ได้รับการบริการสาธารณสุขไม่ครบขั้นตอน ปัญหาด้านครอบครัว นันทนาการ และการมีส่วนร่วม พบว่าเด็กจำนวนหนึ่งถูกพ่อ แม่ และคนในครอบครัว ปล่อยปละละเลย หรือทอดทิ้ง ขาด แหล่งนันทนาการที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ บางครั้งเด็กตกเป็นเหยื่อของการแสวงประโยชน์จากผู้ใหญ่ในกิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการเมือง ปัญหาด้านการจัดการศึกษา โดยสาเหตุของปัญหาเนื่องจากครอบครัวยากจน การออกกลางคัน ต้องหารายได้ให้ครอบครัว
ผลสรุปของการวิจัยสามารถนำมาเป็นแนวทางในการออกแบบได้ดังน 1. ในการออกแบบสิ่งพิมพ์สำหรับมูลนิธิเพื่อเด็ก ในปัญหาด้านการปกป้องคุ้มครอง มีการใช้จุดจับใจทั้งหมด 6 รูปแบบ โดยใช้จุดจับใจด้านความเห็นอกเห็นใจมากที่สุด มีการใช้หลักการจัดองค์ประกอบภาพถ่ายทั้งหมด 11 รูปแบบ โดยใช้หลักการเรื่องอารมณ์ของสีมากที่สุด มีการเลือกชนิดจดหมายตรงที่เหมาะสมทั้งหมด 5 ชนิด คือ ไปรษณียบัตร แผ่นโฆษณา แผ่นพับ ใบปลิว และจดหมายขาย โดยใช้วิธีการจัดหน้าในงานสิ่งพิมพ์แบบใช้ภาพอย่างเดียว 2. ในการออกแบบสิ่งพิมพ์สำหรับมูลนิธิเพื่อเด็ก ในปัญหาด้านการส่งเสริมสุขภาพกาย และสุขภาพจิต มีการใช้จุดจับใจทั้งหมด 4 รูปแบบ โดยใช้จุดจับใจเรื่องที่ทำให้ตกใจหรือสะเทือนใจมากที่สุด มีการใช้หลักการจัดองค์ประกอบภาพถ่ายทั้งหมด 8 รูปแบบ โดยใช้หลักการเรื่องจุดเด่นจุดสนใจมากที่สุด มีการเลือกชนิดจดหมายตรงที่เหมาะสมทั้งหมด 5 ชนิด คือ แผ่นโฆษณา ใบปลิว แผ่นพับ ไปรษณียบัตร และจดหมายขาย โดยใช้วิธีการจัดหน้าในงานสิ่งพิมพ์แบบใช้ภาพอย่างเดียว 3. ในการออกแบบสิ่งพิมพ์สำหรับมูลนิธิเพื่อเด็ก ในปัญหาด้านครอบครัว นันทนาการ และการมีส่วนร่วม มีการใช้จุดจับใจทั้งหมด 4 รูปแบบ โดยใช้จุดจับใจเรื่องที่ทำให้ตกใจหรือสะเทือนใจมากที่สุด มีการใช้หลักการจัดองค์ประกอบภาพถ่ายทั้งหมด 5 รูปแบบ โดยใช้หลักการเรื่องจุดเด่นจุดสนใจมากที่สุด มีการเลือกชนิดจดหมายตรงที่เหมาะสมทั้งหมด 4 ชนิด คือ แผ่นโฆษณา ไปรษณียบัตร แผ่นพับ และใบปลิว โดยใช้วิธีการจัดหน้าในงานสิ่งพิมพ์แบบใช้ภาพอย่างเดียว 4. ในการออกแบบสิ่งพิมพ์สำหรับมูลนิธิเพื่อเด็ก ในปัญหาด้านการจัดการศึกษา มีการใช้จุดจับใจทั้งหมด 2 รูปแบบ โดยใช้จุดจับใจด้านข่าวสาร และข้อมูลความจริงมากที่สุด มีการใช้หลักการจัดองค์ประกอบภาพถ่ายทั้งหมด 3 รูปแบบ โดยใช้หลักการเรื่องอารมณ์ของสีมากที่สุด มีการเลือกชนิดจดหมายตรงที่เหมาะสมทั้งหมด 5 ชนิด คือ แผ่นโฆษณา แผ่นพับ จดหมายขาย ไปรษณียบัตร และใบปลิว โดยใช้วิธีการจัดหน้าในงานสิ่งพิมพ์แบบใช้ภาพอย่างเดียว