Abstract:
งานวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อทดสอบว่าหากนำกฎของเทย์เลอร์ (Taylor rules) มาประยุกต์ใช้กับทฤษฎีการคาดการณ์ (Expectations theory) แล้วจะสามารถอธิบายโครงสร้างอัตราผลตอบแทนตามระยะเวลาไถ่ถอนหลักทรัพย์ (Term structure of Interest rates) ได้ดียิ่งขึ้นหรือไม่ ดังนั้น เพื่อที่จะตอบคำถามดังกล่าวงานวิจัยชิ้นนี้จึงต้องแบ่งการวิจัยออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนแรกจะเป็นการทดสอบทฤษฎีการคาดการณ์ ส่วนที่สองเป็นการวิเคราะห์หาแบบจำลองที่เหมาะสมเมื่อนำข้อมูลของประเทศไทยมาใช้ในการศึกษา และส่วนที่สามเป็นการประมาณค่าแบบจำลองที่ได้จากส่วนที่ 2 ด้วยวิธี Rolling VAR และทดสอบการนำกฎของเทเลอร์มาประยุกต์ใช้กับทฤษฎีคาดการณ์เพื่อใช้ในการอธิบายโครงสร้างอัตราผลตอบแทนตามระยะเวลาไถ่ถอนหลักทรัพย์ของประเทศไทยโดยการใช้วิธีดำเนินการจำลองแบบปัญหาชนิดไม่แน่นอน (Stochastic dynamic simulation) ด้วยการประยุกต์กระบวนการของ Carlo A. Favero (2005) โดยข้อมูลที่นำมาใช้ทดสอบจะเป็นข้อมูลทุติยภูมิรายเดือนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2543 ถึงมิถุนายน พ.ศ.2551 อันได้แก่ อัตราผลตอบแทนเมื่อครบกำหนดเวลา (yield to maturity) ณ ช่วงเวลาต่างๆของพันธบัตรรัฐบาล , อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP14 และ RP1) อัตราเงินเฟ้อ (inflation rate) และ ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) ผลการศึกษาพบว่าเราไม่สามารถอธิบายลักษณะโครงสร้างอัตราผลตอบแทนตามระยะเวลาไถ่ถอนหลักทรัพย์ได้โดยอาศัยเพียงทฤษฎีการคาดการณ์เพียงทฤษฎีเดียว แต่หากนำกฎของเทย์เลอร์มาประยุกต์ใช้กับทฤษฎีการคาดการณ์ตามวิธีการของ Favero จะสามารถอธิบายโครงสร้างอัตราผลตอบแทนตามระยะเวลาไถ่ถอนหลักทรัพย์ของประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้น