Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาเรื่องอารมณ์ในจริยศาสตร์ของขงจื๊อว่าอารมณ์มีความสัมพันธ์กับมโนทัศน์ทางจริยศาสตร์อย่างไร และอารมณ์มีบทบาทในจริยศาสตร์ของขงจื๊ออย่างไร จากการศึกษาพบว่า อารมณ์ทางศีลธรรมมีความสัมพันธ์กับมโนทัศน์ทางจริยศาสตร์ทั้งสาม ได้แก่มนุษยธรรม(เหริน) จารีต(หลี่) และความถูกต้อง(อี้) กล่าวคือมนุษยธรรมเป็นเงื่อนไขจำเป็นต่อการมีอารมณ์ทางศีลธรรมและในฐานะความรักมนุษย์ก็เป็นอารมณ์ทางศีลธรรมในตัวเอง จารีตเป็นวิถีทางในการแสดงออกของอารมณ์โดยกำกับและขัดเกลาอารมณ์ของมนุษย์ให้มีขอบเขตเหมาะสม ความถูกต้องเป็นสิ่งที่ช่วยกำกับให้อารมณ์ของมนุษย์สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทที่หลากหลายอารมณ์ตาม "ธรรมชาติ" จะสามารถพัฒนาไปสู่อารมณ์ทางศีลธรรมได้โดยผ่านการขัดเกลาด้วยกวีนิพนธ์ จารีตและดนตรี ในปรัชญาขงจื๊ออารมณ์ทางศีลธรรมหลักได้แก่ ความรัก ความเกลียด ความโศกเศร้า ความละอายและความยินดีเป็นส่วนหนึ่งของการมีชีวิตที่ดีทางจริยธรรมโดยมีบทบาทแตกต่างกัน ความรักมนุษย์เป็นคุณธรรมที่เรียกว่ามนุษยธรรมและเป็นแรงจูงใจในการกระทำทางศีลธรรม ความเกลียดความโศกเศร้าและความละอายทำหน้าที่ในการประเมินคุณค่าของบุคคลและการกระทำทางศีลธรรม ความละอายเป็นความรอบคอบและความรับผิดชอบทางศีลธรรม ความยินดีเป็นอารมณ์ที่แสดงถึงการตั้งมั่นของคุณธรรมของบุคคล อย่างไรก็ตามอาจโต้แย้งได้ว่าอารมณ์ในจริยศาสตร์ของขงจื๊อมีข้อจำกัดโดยเน้นแต่อารมณ์ที่ผ่านการขัดเกลาทางศีลธรรม และไม่ให้ความสนใจกับอารมณ์ตามธรรมชาติของมนุษย์ อีกทั้งละเลยอารมณ์บางอย่าง เช่น อารมณ์ขันซึ่งเป็นอารมณ์ที่ปรัชญาเต๋าให้ความสำคัญ