Abstract:
การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบัญชีรุ่นของสมาชิกกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพและบัญชีรุ่นของสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติซึ่งเป็นมาตรการการบังคับออมแบบใหม่ที่คาดว่ากระทรวงการคลังจะประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2551 โดยใช้ตัวชี้วัดทางการเงิน ได้แก่ อัตราผลตอบแทนภายใน และอัตราส่วนมูลค่าปัจจุบันของประโยชน์ทดแทนและเงินสมทบตลอดชีพของสมาชิกกองทุนประกันสังคมแต่ละรุ่นอายุและชั้นรายได้ นอกจากนี้ยังทำการศึกษาสถานะทางการเงินในระยะยาวของกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ ในการศึกษาครั้งนี้ใช้วิธีการจำลองข้อมูลค่าจ้างอนาคตของสมาชิกกองทุน โดยอาศัยข้อมูลค่าจ้างในอดีตและปัจจุบันของลูกจ้างเอกชนเป็นฐานในการประมาณการข้อมูลดังกล่าว ซึ่งนำมาจากผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรรายไตรมาส พ.ศ. 2542-2548 ในการวิเคราะห์ได้แบ่งกลุ่มสมาชิกกองทุน 4 รุ่นอายุ ได้แก่ รุ่นอายุ 22 ปี 32 ปี 42 ปี และ 52 ปี และแต่ละรุ่นแบ่งชั้นรายได้ออกเป็น 5 ชั้นรายได้ โดยกำหนดให้ปี พ.ศ. 2549 เป็นปีฐาน จากผลการศึกษาพบว่าสมาชิกในกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพมีลักษณะความเหลื่อมล้ำในเรื่องประโยชน์ทดแทนและเงินสมทบระหว่างรุ่นที่เด่นชัด นอกจากนี้ยังมีกลไกการกระจายรายได้ใหม่ระหว่างสมาชิกในกองทุนที่มีรายได้มากไปยังสมาชิกในกองทุนที่มีรายได้น้อย และยิ่งอัตราส่วนลดเพิ่มสูงขึ้นความเหลื่อมล้ำระหว่างรุ่นก็จะยิ่งเด่นชัด
ผลจากมาตรการการบังคับออมแบบใหม่ภายใต้กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ซึ่งมีลักษณะเป็นแบบ Pay-as-you-go เหมือนกัน ก็จะประสบปัญหาคล้ายกันกับกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ แต่อย่างไรก็ตามระดับการออมหลังมีกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติก็เพียงพอที่จะบริโภคขั้นพื้นฐานและเพียงพอต่อการบริโภคตามอัตภาพได้ โดยสมาชิกกองทุนที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 15,000 บาท ขึ้นไป จะมีระดับเงินออมรวมประมาณร้อยละ 30 ของรายได้ก่อนเกษียณ ในส่วนการศึกษาสถานะทางการเงินของกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพพบว่าหากเพิ่มอัตราเงินสมทบหรือเพิ่มอายุเกษียณของสมาชิกกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพแล้ว กองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพจะยืดเวลาของการเกิดขึ้นของภาระหนี้ผูกพันของกองทุนออกไปอย่างน้อยจาก 42 ปี เป็น 48 ปี