Abstract:
จุดประสงค์ของวิทยานิพนธ์ฉบับนี้คือเพื่อเสนอ "แนวทางการกำหนดความสามารถด้านการอ่านภาษาจีน : กรณีศึกษานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" และเพื่อนำไปใช้เป็นมาตรฐานในการออกแบบการวัดผลทางด้านทักษะการอ่าน รวมทั้งสามารถนำแนวทางนี้ไปใช้ในการอ้างอิงการเขียนตำราที่เกี่ยวข้องกับทักษะด้านการอ่านภาษาจีนได้อีกด้วย ในการวิเคราะห์หลักสูตรวิชาเอกภาษาจีนของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นผู้วิจัยได้นำบทบาททางภาษา 3 ประการของแนวทางกำหนดความสามารถทางด้านภาษาจีนของสภาการสอนภาษาต่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ American Council on the Teaching of Foreign Languages (ACTFL) Chinese Proficiency Guidelines มาเป็นหลักเกณฑ์ในการวิเคราะห์เพื่อแสดงให้เห็นว่า หลังจากที่นิสิตเรียนแต่ละวิชาจบแล้วนั้น นิสิตมีความสามารถด้านการอ่านภาษาจีนเป็นอย่างไร และกำหนดระดับต้น กลาง และสูง ของแต่ละวิชาด้วย สุดท้ายจึงสรุปหลักเกณฑ์ในการแบ่งระดับความสามารถในด้านการอ่านของนิสิตวิชาเอกภาษาจีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากนั้นผู้วิจัยทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างแนวทางกำหนดความสามารถทางด้านภาษาจีนของสภาการสอนภาษาต่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (ACTFL) กับแนวทางการกำหนดความสามารถด้านการอ่านภาษาจีน : กรณีศึกษานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้วิจัยเห็นว่าการวิเคราะห์เปรียบเทียบนี้มีหลักสำคัญที่ต้องคำนึงถึง 2 ประการคือ
1. การวิเคราะห์ในแนวนอนเพื่อหาข้อแตกต่างระหว่างระดับชั้นของแนวทางกำหนดความสามารถทั้งสอง 2. การวิเคราะห์ในแนวตั้งเพื่อแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางด้านการอ่านของผู้เรียน ผลการวิจัยที่ได้รับคือระดับความสามารถทางด้านการอ่านทั้งต้น กลาง และสูงของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยล้วนสูงกว่าระดับความสามารถของแนวทางกำหนดความสามารถทางด้านภาษาาจีนของสภาการสอนภาษาต่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (ACTFL) รวมทั้งพัฒนาการทางด้านการอ่านของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เร็วกว่าอีกด้วย เหตุผลของความแตกต่างระหว่างแนวทางกำหนดความสามารถทั้งสองนี้ ผู้วิจัยตระหนักว่ามีสาเหตุมาจาก 1. แนวทางกำหนดความสามารถด้านการอ่านจัดทำขึ้นเพื่อนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยวิชาเอกภาษาจีนโดยเฉพาะ 2. จุดประสงค์ของหลักสูตรวิชาเอกภาษาจีน คือ การผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถในด้านภาษาจีน และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นได้ และ 3. ภาษาไทยเป็นภาษาที่อยู่ในตระกูลภาษาเดียวกันกับภาษาจีน คือ ตระกูลภาษาจีน-ธิเบต ซึ่งมักมีระบบเสียงและหลักไวยากรณ์ที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้นนิสิตไทยจึงสามารถเรียนรู้ภาษาจีนได้ค่อนข้างเร็ว