Abstract:
การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาและบริบทของเพลงกราวในและวิเคราะห์อัตลักษณ์ทางเดี่ยวระนาดเอกเพลงกราวใน สามชั้น : กรณีศึกษาพันโทเสนาะ หลวงสุนทร ผลจากการศึกษาพบว่า เพลงกราวใน จัดเป็นเพลงหน้าพาทย์ใช้ประกอบกิริยาอาการเดินทางของตัวละครฝ่ายยักษ์ลักษณะท่วงทำนองสง่างามฮึกเหิม และในทางเดี่ยวนั้นถือว่าเป็นเหมือนอาวุธสำคัญ ดังนั้นผู้ที่จะศึกษาร่ำเรียนเพลงเดี่ยวกราวในนี้ จะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในการบรรเลงและมีความประพฤติที่มีควาเหมาะสมจึงจะสามารถเรียนเพลงเดี่ยวกราวในได้ จากการวิเคราะห์การดำเนินทำนองในทางเดี่ยวระนาดเอกนั้น พบว่าลักษณะการดำเนินทำนองในทางเดี่ยวนั้น ได้อาศัยทำนองหลักเป็นเค้าโครงในการดำเนินทำนอง โดยการดำเนินทำนองแบ่งออกเป็น 2 เที่ยว โดยในเที่ยวที่ 1 การดำเนินทำนองเน้นการใช้กลวิธีการบรรเลง แบบสะบัด สะเดาะ ขยี้ แล้วบรรเลงเก็บด้วยการใช้สำนวนกลอนระนาดที่หลากหลายโดยเป็นการดำเนินกลอนที่ไม่ซ้ำกัน ส่วนการดำเนินทำนองของระนาดเอกในเที่ยวที่ 2 นั้น พบว่า การดำเนินทำนองมีการใช้กลวิธีพิเศษของทางนี้ คือ การรัวเป็นทำนองที่มีลักษณะการบรรเลงโดยการรัวจากเสียงสูงไปหาเสียงต่ำและเสียงต่ำไปหาเสียงสูง โดยพบได้มากในช่วงท้ายของการบรรเลงแต่ละโยน มีการบรรเลงแบบที่พันโทเสนาะ หลวงสุนทรเรียกว่า รัวหวาน มีกลวิธีแบ่งมือสลับซ้ายขวาดำเนินทำนองเลียนแบบเสียงจังหวะกลอง และมีการบรรเลงลูกรัวที่ยาวกว่าของทางของผู้อื่นเพิ่มเติมเข้ามา ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลวิธีที่เป็นอัตลักษณ์ของเดี่ยวระนาดเอก เพลงกราวในทางนี้