Abstract:
งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาหน้าที่ทางไวยากรณ์และความหมายของคำว่า ยัง ตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังศึกษากระบวนการกลายเป็นคำไวยากรณ์ของคำว่า “ยัง” ข้อมูลที่ใช้ในงานวิจัยนี้ แบ่งออกเป็น 5 สมัย ได้แก่ (1) สมัยสุโขทัย (2) สมัยอยุธยาถึงรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (3) สมัยรัชกาลที่ 4 ถึง 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (4) สมัยรัชกาลที่ 6 ถึง 8 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และ (5) สมัยรัชกาลปัจจุบัน ผลการวิจัยพบว่า คำว่า ยัง ในแต่ละสมัย แสดงหน้าที่ทางไวยากรณ์ได้ 4 หน้าที่ ได้แก่ (1) คำว่า ยัง ที่เป็นคำกริยา ในสมัยสุโขทัยมี 3 ความหมาย ได้แก่ มีอยู่ อยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง และ ครอบครอง ในสมัยอยุธยาถึงรัชกาลที่ 3 มี 3 ความหมายเช่นกัน ได้แก่ มีอยู่ อยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง และความหมายบ่งการีต ในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึง 5 และสมัยรัชกาลที่ 6 ถึง 8 พบเพียง 2 ความหมาย ได้แก่ มีอยู่ และความหมายบ่งการีต และสมัยปัจจุบันเหลือความหมายบ่งการีตเพียงความหมายเดียว ซึ่งปรากฏในปริบทที่จำกัด พัฒนาการในเชิงประวัติแสดงให้เห็นว่าคำกริยา ยัง จะมีความหมายน้อยลง เมื่อเข้าใกล้สมัยปัจจุบันมากขึ้น (2) คำว่า ยัง ที่เป็นคำช่วยหน้ากริยา พบว่าในทุกสมัยมีความหมายเดียว คือ การณ์ลักษณะ คงอยู่ (3) คำว่า ยัง ที่เป็นคำบุพบท ในสมัยสุโขทัยมี 1 ความหมาย คือ การก จุดหมาย ในสมัยอยุธยาถึงรัชกาลที่ 3 สมัยรัชกาลที่ 4 ถึง 5 และสมัยรัชกาลที่ 6 ถึง 8 มี 2 ความหมาย ได้แก่ การก สถานที่ และการก จุดหมาย ในสมัยปัจจุบัน คำบุพบท ยัง ต้องปรากฏร่วมกับคำกริยาแสดงการเคลื่อนที่เสมอ โดยเฉพาะคำว่า ไป หรือ มา ดังนั้นคำบุพบท ยัง ในสมัยปัจจุบันจึงมีความหมายบ่งการก จุดหมาย เท่านั้น และ(4) คำว่า ยัง ที่เป็นคำเชื่อมอนุพากย์ ในสมัยสุโขทัย มี 1 ความหมาย คือ แสดงความสัมพันธ์ระหว่างอนุพากย์แบบ การเสริม ในสมัยอยุธยาถึงรัชกาลที่ 3 คำเชื่อมอนุพากย์ ยัง แสดงความสัมพันธ์แบบ การขัดแย้งกับสิ่งที่ควรจะเป็น เพิ่มอีก 1 ความหมาย และสมัยรัชกาลที่ 4 ถึง 5 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ก็แสดงความสัมพันธ์แบบ ‘การขัดแย้งแบบเปรียบเทียบ’ เพิ่มขึ้นมาอีก 1 ความหมาย พัฒนาการในเชิงประวัติแสดงให้เห็นว่า ยิ่งเข้าใกล้สมัยปัจจุบันมากขึ้น คำเชื่อมอนุพากย์ ยัง มีการแสดงความหมายทางไวยากรณ์เพิ่มขึ้น เส้นทางการกลายเป็นคำไวยากรณ์ของคำว่า ยัง มี 4 เส้นทาง ได้แก่ (1) คำกริยา ยัง ที่หมายถึง มีอยู่ กลายไปเป็นคำช่วยหน้ากริยา (2) คำกริยา ยัง ที่หมายถึง มีอยู่ กลายไปเป็นคำเชื่อมอนุพากย์ (3) คำกริยา ยัง ที่หมายถึง มีอยู่ กลายไปเป็นคำกริยาการีต และ (4) คำกริยา ยัง ที่หมายถึง อยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง กลายไปเป็นคำบุพบท จากทั้ง 4 เส้นทางนี้ จะเห็นว่า 3 เส้นทางแรก มีต้นกำเนิดเดียวกัน คือ คำกริยา ยัง ที่หมายถึง มีอยู่ ส่วนเส้นทางสุดท้าย คำต้นกำเนิด คือ คำกริยา ยัง ที่หมายถึง อยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง กริยาต้นกำเนิดทั้งสองนี้มีความสัมพันธ์กันทางความหมายในแง่ สภาพที่มีอยู่ นอกจากนี้กลไกการเปลี่ยนแปลงภาษา ที่เกี่ยวข้องกับการกลายเป็นคำไวยากรณ์ของคำว่า ยัง มี 5 กลไก ซึ่งประกอบด้วย การขยายความหมายเชิงอุปลักษณ์ การเกิดความหมายทั่วไป การดูดซับความหมายปริบท การสูญฐานะของโครงสร้างในหน่วยประกอบ/การวิเคราะห์ใหม่ และการสูญลักษณะของหมวดคำเดิม จากการศึกษาพบว่าพัฒนาการในเชิงประวัติและกระบวนการกลายเป็นคำไวยากรณ์ของคำว่า ยัง แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปและเป็นแบบทิศทางเดียว ซึ่งสอดคล้องกับการกลายเป็นคำไวยากรณ์ตามลักษณะที่เป็นสากล