Abstract:
การวิเคราะห์เดี่ยวซอด้วงเพลงกราวใน ทางครูปลั่ง วนเขจร พบว่าเพลงกราวในเป็นเพลงไทยประเภทเพลงหน้าพาทย์ เป็นเพลงที่ใช้ในพิธีไหว้ครูเพื่ออัญเชิญให้ครูมาเป็นสิริมงคลในงานและเป็นเพลงบรรเลงประกอบกิริยาของตัวละครฝ่ายยักษ์ ลักษณะทำนองของเพลงแสดงความสง่างามและฮึกเหิม และในส่วนของทำนองเพลงนั้นประกอบด้วยส่วนที่เป็นเนื้อเพลง และกลุ่มลูกโยนในเสียงต่างๆ 10 กลุ่ม 6 เสียง ด้วยทำนองของเพลงกราวในทั้งในส่วนของลูกโยน (ทำนองที่ยืนอยู่ในเสียงใดเสียงหนึ่งหลายๆ ครั้งหรือเสียงที่ยืนพื้น) และทำนองหลัก เพลงนี้มีความเหมาะสมที่จะนำมาประดิษฐ์เป็นทางเดี่ยว เพราะมีทำนองในส่วนลูกโยนที่เปิดอิสระทางความคิด และด้วยลักษณะของการดำเนินทำนองที่ซ้ำทำนอง การลดรูปทำนองที่สามารถประดิษฐ์ให้พลิกแพลงได้หลากหลาย ส่งผลให้เพลงเดี่ยวกราวในเป็นเพลงเดี่ยวที่มีความสำคัญเพลงหนึ่ง ทั้งยังมีการเปลี่ยนกลุ่มเสียง
ในการดำเนินทำนองภายในตัวถึง 3 กลุ่มเสียงหรือ 3 ระดับเสียง คือ ทางเพียงออบน ทางเพียงออล่าง และทางนอก การประดิษฐ์เดี่ยวซอด้วงเพลงกราวใน พบว่ามีความแตกต่างจากทำนองหลัก คือมีการประดิษฐ์เป็นประดิษฐ์ให้เป็นทางเดี่ยวซอด้วงจากทำนองหลักเพียง 8 ลูกโยน ส่วนลูกโยนที่ 9 และลูกโยนที่ 10 นั้นเป็นลูกโยนที่ซ้ำเสียงกับลูกโยนที่ 1 และลูกโยนที่ 2 ประกอบกับข้อจำกัดในขอบเขตของเสียงซอด้วง และในทางเดี่ยวซอด้วงพบว่ามีการดำเนินทำนองที่ยาวมากกว่าทำนองหลักในส่วนของโยน แต่ยังคงอาศัยเค้าโครงของทำนองหลักในการดำเนินทำนอง และในส่วนของเนื้อเพลงมีความยาวเท่ากัน ในเรื่องของจังหวะนั้นพบว่ามีความแตกต่างในการตีจังหวะหน้าทับ เนื่องจากทางเดี่ยวซอด้วงจะใช้หน้าทับเพลงกราวนอกตี และจากการศึกษาวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆ ของเดี่ยวซอด้วงเพลงกราวใน ทางครูปลั่งวนเขจร ทำให้พบว่าเพลงเดี่ยวกราวในนี้เป็นเพลงที่มีความสำคัญเพลงหนึ่ง