Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์นำเสนอการสร้างความเป็นสหบทในบทละคร ซีเซียงจี้ (西厢记The Romance of West Chamber) โดยศึกษาเปรียบเทียบเนื้อหา และการสร้าง ตัวละครในบทละคร ซีเซียงจี้ แห่งราชวงศ์หยวน กับ นวนิยาย ยิงยิงจ้วน (莺莺传The Biography of Yingying) แห่งราชวงศ์ถัง พร้อมทั้งวิเคราะห์มโนทัศน์ทางสังคมที่สะท้อนให้เห็นในบทละคร ซีเซียงจี้ ผลการวิจัยพบว่า 1) เนื้อหาในบทละคร ซีเซียงจี้ มี 3 ลักษณะคือ เนื้อหาที่ขยายความหรือเพิ่มเติมจากตัวบทต้นแบบ เนื้อหาที่ถูกตัดออกไป และเนื้อหาที่ถูกปรับเปลี่ยนดัดแปลงจากตัวบทต้นแบบ 2) ตัวละครในบทละคร ซีเซียงจี้ มี 3 ลักษณะเช่นกันคือ ตัวละครที่ถูกแต่งเพิ่มขึ้นใหม่โดยไม่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับตัวบทต้นแบบ ตัวละครที่ถูกตัดออกไป และตัวละครที่ถูกปรับเปลี่ยนดัดแปลงจากตัวบทต้นแบบ 3) มโนทัศน์ทางสังคมสมัยราชวงศ์หยวนภายใต้การปกครองของชนชาติมองโกล เช่น เพศสถานะในวัฒนธรรมขงจื่อ คุณธรรมจริยธรรมหลักของสังคมจีน และระบบสอบเข้ารับราชการ (科举制度 Merit system) ที่ปรากฏในตัวบทดัดแปลง ซีเซียงจี้ ยังคงได้รับการถ่ายทอดจากตัวบทต้นแบบนวนิยาย ยิงยิงจ้วน ซึ่งประพันธ์ในสมัยราชวงศ์ถังของชนชาติฮั่น แต่ให้ความสำคัญและความเคร่งครัดที่น้อยกว่า